Introducing How to choose black and white films
Introducing How to choose black and white films
แนะนำมือใหม่ เลือกใช้ฟิล์มขาวดำแบบต่างๆ
ช่วงนี้กระแสคนหันมามาถ่ายภาพจากฟิล์มกันมากขึ้นเรื่อยๆ ฟิล์มก็มีขายกันมากมายหลายช่องทาง ร้านค้าจริง ร้านค้าออนไลน์ หรือ ในเฟสบุคเอง ก็เห็นมีคนเปิดร้านขายกันเต็มไปหมด
ผมเลยอยากจะเขียนบทความแนวเป็นไกด์ไลน์ ให้คนถ่ายฟิล์มมือใหม่ ได้พอเข้าใจ และเลือกใช้งานกันได้สะดวกขึ้น
โดยขอเริ่มจากเรื่องของ ฟิล์มขาวดำ ก่อน โดยจะกล่าวถึงเฉพาะ ฟอร์แมท 135 ( 35 มม.) ที่นิยมใช้กันทั่วไป
ผมจะขอแบ่งออกเป็น Level ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย สัก 3 Level แล้วกันนะครับ
1. Entry-level
ระดับเริ่มต้น คนเพิ่งหัดถ่ายแรกๆ นิสิต นักศึกษา โดยระดับนี้จะเน้น ราคาประหยัด ฟิล์มมีช่วงรับแสงกว้าง ( Wide Exposure Latitude ) ทำให้ถ่ายง่าย ถ่ายโอเว่อหรืออันเด้อ สัก 1-2 สต๊อป ก็ยังได้ภาพที่พอใช้งานได้อยู่ ไม่ต้องการการเก็บรักษาที่ซีเรียส ฟิล์มระดับนี้ ได้แก่
FOMA
ฟิล์ม FOMA รุ่น FOMAPAN ฟิล์มขาวดำราคาประหยัด จากสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) แบรนด์ FOMA ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1921, FOMAPAN เป็นฟิล์มขาวดำมีช่วงรับแสงกว้าง ความไวแสงมีให้เลือก ISO 100 , 200 และ 400 โทนจะออกแนวเก่าๆ อนุรักษ์นิยม โอลด์สไตล์ ราคาอยู่ประมาณ 150 -160 บาท
Kentmere
ฟิล์ม Kentmere เปิดตัวในปี 2009 ผลิตโดย Harman Technology ประเทศอังกฤษ เจ้าของเดียวกับ ILFORD โดยกำหนดตลาดไว้ต่ำกว่าฟิล์ม ILFORD ให้เป็นฟิล์มขาวดำรุ่นเริ่มต้น ราคาประหยัด มีช่วงรับแสงกว้าง ใช้ง่าย ความไวแสงมีให้เลือก ISO 100 และ 400 ราคาอยู่ประมาณ 120-140 บาท
ILFORD PAN
(General purpose budget panchromatic film for selected markets )
ฟิล์มขาวดำ รุ่นเริ่มต้น ราคาประหยัด ของทาง ILFORD แบรนด์ขาวดำคุณภาพที่มีชื่อเสียงมายาวนานจากประเทศอังกฤษ มีให้เลือกทั้ง ISO 100 สำหรับถ่ายกลางแจ้งทั่วไป เช่น แลนสเคป ถาปัตย์ และ ISO 400 สำหรับงานแสงน้อยอย่างถ่ายสตรีท ราคาอยู่ประมาณ 140-150 บาท
2. Standard Level
ระดับคุณภาพมาตรฐาน ใช้งานกันมายาวนานในวงการหลายสิบปี
ILFORD FP4 Plus
(Fine grain, general purpose panchromatic film with a wide exposure latitude. Originally launched as Ilford Fine grain Panchromatic emulsion in 1935. )
ฟิล์มขาวดำรุ่นมาตรฐาน จาก ILFORD แบรนด์ขาวดำคุณภาพที่มีชื่อเสียงมายาวนานจากประเทศอังกฤษ มีความไวแสงปานกลางที่ ISO 125 ให้เกรนละเอียด เหมาะกับงานทั่วไป ที่มีสภาพแสงดี ราคาอยู่ประมาณ 200 บาท
ILFORD HP5 Plus
(Medium contrast, general purpose panchromatic film with a wide exposure latitude. A film tracing its heritage back to the Ilford HyPer sensitive emulsion in 1931. Well suited to photojournalism. Available as Single use camera )
ILFORD HP Plus ฟิล์มขาวดำรุ่นมาตรฐานแบบความไวแสงสูง จาก ILFORD แบรนด์ขาวดำคุณภาพที่มีชื่อเสียงมายาวนานจากประเทศอังกฤษ มีความไวแสงสูงที่ ISO 400 ให้ความคมชัด แม้ในสภาพแสงน้อย เหมาะกับงานเดินถ่าย เช่น สตรีท สารคดี ข่าว ฯ เมื่อเจอสภาพแสงน้อยมาก สามารถล้างเพิ่มเวลาได้ ( Push Processing) ไปที่ 800, 1600 หรือ 3200 ได้ ราคาอยู่ประมาณ 200 บาท
Kodak Tri-X 400
( Traditional cubic grain panchromatic film with high contrast, re-engineered in 2007 with a finer grain. Classic photojournalist film. )
Kodak Tri-X 400 ฟิล์มขาวดำ รุ่นคลาสสิคของ KODAK ประเทศอเมริกา ที่ผลิตกันมาตั้งแต่ปี 1954 ได้รับความนิยมมายาวนานกว่า 65 ปี เนื้อฟิล์มเกรนแบบดั้งเดิม (Traditional grain ) ให้ความคมชัดสูง Tri-X เป็นฟิล์มระดับมาตรฐานที่ได้รับการไว้วางใจจากช่างภาพมืออาชีพมายาวนาน มีความไวแสงที่ 400 สามารถล้างเพิ่มเวลาได้ ( Push Processing) ไปที่ 800, 1600 หรือ 3200 ได้ ราคาอยู่ประมาณ 220 บาท
3. Professional Level
ก่อนจะไปต่อ ขอเล่าเรื่องชนิดของผลึกสารไวแสงของฟิล์มขาวดำ หรือที่เราเรียกกันว่า เกรน (grain) เพิ่มเติมสักนิดก่อน
ชนิดของฟิล์มขาวดำ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. แบบ Traditional grain
2. แบบ Tabular grain
แบบ Traditional grain เป็นเกรนแบบดั้งเดิม มีลักษณะการฉาบสารไวแสงเป็นจุดๆ ผลึกจะเป็นเม็ดใหญ่ ยิ่งฟิล์มความไวสูงขึ้น ต้องฉาบสารไวแสงหนาขึ้น เกรนก็จะยิ่งขนาดใหญ่ตามไปด้วย ฟิล์มประเภทนี้ เมื่อเอามาอัดขยายเป็นภาพขนาดใหญ่ๆ หน่อย ก็จะเห็นเกรนบนภาพชัดเจน ที่เราเรียกกันว่า “เกรนแตก”
แบบ Tabular grain หรือเรียกสั้นๆ ว่า T-grain เป็นฟิล์มยุคถัดมาที่พัฒนาตัวผลึกสารไวแสงใหม่ ตัวผลึกสารไวแสงจะบางและแบนราบ ทำให้ฟิล์มชนิดนี้มีเนื้อละเอียดกว่าแบบเดิมมาก และไม่ค่อยขึ้นเป็นเม็ดเกรน เวลาทำฟิล์มมาอัดขยายรูป หรือแสกนเป็นไฟล์ภาพ
ในเลเวลโปรนี้ ผมจะจัดให้กับฟิล์มขาวดำ ที่เป็นแบบ T-grain ซึ่งได้แก่ ฟิล์ม T-Max ของKodak , ฟิล์ม Delta ของ ILFORD และ ฟิล์ม Neopan ของ Fujifilm
Kodak T-MAX 100
(Modern general purpose continuous tone 'T' grain panchromatic film )
ฟิล์ม T-MAX 100 คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่เนียนสุด คมสุด และดีที่สุดของ โกดัก เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 1986 (พ.ศ. 2529) มีความไวแสงต่ำสุดในซีรีย์ T-Max คือที่ ISO 100
เป็นฟิล์มที่มีช่วงรับแสงกว้าง เก็บรายละเอียดได้ดี ไล่โทนได้ต่อเนื่อง เหมาะกับงานที่ต้องการคุณภาพที่เป็นที่สุด
แต่เนื่องจากเป็นฟิล์มเกรดโปร จึงต้องดูแลเป็นพิเศษ คือต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ(แช่เย็น) และให้คุณภาพดีที่สุด เมื่อล้างด้วยน้ำยาเฉพาะของฟิล์ม T-Grain เช่น T-Max Developer ราคาอยู่ประมาณ 260 บาท
ภาพตัวอย่าง ถ่ายด้วยฟิล์ม T-Max 100 Push 3 สต๊อป เป็น ISO 800
Kodak T-Max 400
(Modern general purpose continuous tone 'T' grain panchromatic film)
ฟิล์ม T-MAX 400 คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่ไวแสงสูงขึ้นกว่า T-max 100 ถึง 2 สต๊อป ทำให้ใช้งานสะดวก แม้ถ่ายในทึี่แสงไม่ค่อยมาก แต่ยังมีความคมชัด และรายละเอียดสูงอยู่ น้องๆ ตัวความไว 100 มีช่วงรับแสงกว้าง สามารถปรับเพิ่มความไวแสง 1 สต๊อป คือ จาก 400 ไป 800 ได้โดยยังคงเวลาล้างเท่าเดิม คือได้คุณภาพเท่าเดิมนั่นเอง เป็นฟิล์มที่น่าใช้อีกตัวนึงครับ ราคาอยู่ประมาณ 290 บาท
ภาพลุงติ๊ก ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2531 ฟิล์ม Kodak T-Max 400 ล้างน้ำยา T-Max Developer เวลาล้าง Normal
Kodak T-Max 3200
(Multi -speed continuous tone 'T' grain panchromatic film. Originally launched in 1998 the film was discontinued in 2012. Re-launched in USA and Europe 4 March 2018. The “P” means although its an ISO 800 film it’s designed to be push processed to an EI 3200 or higher )
ฟิล์ม T-MAX 3200 เป็นฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่ไวแสงสูงมากที่สุดในโลก คือมากกว่าความไวแสง 100 ถึง 5 สต๊อป ทำให้นำไปถ่ายภาพในที่แสงน้อยมากๆ ภาพกลางคืน ภาพแอคชั่นต่างๆ ได้สะดวกมาก เรียกว่าถ่ายกลางคืนได้แบบไม่ต้องใช้ขาตั้งช่วยกันเลย (ความไวแสงของฟิล์มจริงๆ ประมาณISO 800 แต่ใช้การล้างเพิ่มเวลาดันไปได้ถึง 3200 ) ราคาอยู่ประมาณ 340 บาท
ILFORD DELTA 100 Pro
(Very fine grain modern panchromatic professional film using core-shell crystal technology, ilfords response to Kodak T-MAX. )
ฟิล์ม ILFORD DELTA 100 Pro คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่มีความไวแสงต่ำสุดของ อิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เริ่มผลิตเมื่อปี 1992 (หลังจาก T-Max ของโกดัก 6 ปีได้) คุณลักษณะก็จะคล้ายๆ โกดัก T-Max 100 คือ Delta 100 มีเกรนละเอียดสุด คุณภาพดีสุด คมชัดสุด ในตะกูล Delta ด้วยกัน แต่มีราคาย่อมเยากว่า T-Max คือราคาประมาณ 220 บาท
*ฟิล์มจะให้คุณภาพดีที่สุด เมื่อล้างด้วยน้ำยาเฉพาะของฟิล์ม T-Grain เช่น ILFOSOL DD-X
ILFORD DELTA 400 Pro
(Fine grain modern panchromatic professional film using core-shell crystal technology, first released 1990, ilfords response to Kodak T-MAX)
ฟิล์ม ILFORD DELTA 400 Pro คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่มีความไวแสงสูงของ อิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จะไวกว่าตัว ISO 100 ถึง 2 สต๊อป ทำให้นำไปใช้งานในสภาพแสงหลากหลาย ได้สะดวกขึ้น ให้เกรนละเอียดแบบฟิล์ม T-Grain ราคาประมาณ 220 บาท
ILFORD DELTA 3200 Pro
(Modern panchromatic professional film using core-shell crystal technology for fast action and low light photography. An ISO 1000 film suitable for push processing to an E.I. of 3200 or higher.)
ฟิล์ม ILFORD DELTA 3200 Pro คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่มีความไวแสงสูงมากของ อิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จะไวกว่าตัว ISO 100 ถึง 5 สต๊อป ทำให้นำไปใช้งานในสภาพแสงน้อยมากได้สะดวก ราคาประมาณ 220 บาท
Fuji Neopan ACROS 100
“achieving ultra-high image quality with world-class granularity and three-dimensional tone reproduction"
Fuji Neopan ACROS 100
ฟิล์ม Fuji Neopan ACROS 100 คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain จากทางฟูจิฟิล์ม ประเทศญี่ปุ่น เป็นฟิล์มแบบ T-Grain ที่มีคุณสมบัติที่ดีแบบ T-Grain ทุกประการ คือเกรนละเอียด ความคมชัดสูง การไล่โทนดีงาม
และจุดเด่นสุดของฟิล์มตัวนี้คือ 'T' grain film noted for its low rate of reciprocity failure คือมีค่า reciprocity failure เมื่อใช้สปีดชัดเตอร์ต่ำๆ น้อยที่สุด ในบรรดาฟิล์มแบบทีเกรนด้วยกัน
แต่ Neopan ACROS 100 ได้มีการหยุดผลิตไปได้ในปี 2018 เพิ่งมีข่าวมาไม่กี่วันว่าทางฟูจิ จะกลับมาผลิตใหม่เร็วๆนี้ คงในปี 2019 นี้ โดยใช้ชื่อเป็น Neopan ACROS 100 II
ส่วนราคาขายยังไม่ทราบ ต้องรอตอนเปิดตัวจริงๆ อีกที
มาถึงบรรทัดนี้ ก็คงครบแล้วครับ เรื่องฟิล์มขาวดำแบบต่างๆ ที่อยากจะเล่าให้ฟัง :)
ปล. สงสัยหรือมีคำถามใดๆ โพสต์ถามไว้ใต้บทความนี้ได้เลยนะครับ
เขียนที่บ้าน
19/06/2019
สมชายการช่าง