Monitor for Photography

Monitor for Photography

Monitor for Photography

แนะนำการเลือกซื้อจอ Monitor สำหรับงานภาพถ่าย

วิธีดูจอ Monitor สำหรับงาน Photo

 

ภาพประกอบจากจอ BenQ SW2700PT

 

มาหละครับตามคำเรียกร้อง บทความวิธีเลือกซื้อจอ Monitor สำหรับงานภาพถ่าย และการเสป็คต่างๆของจอภาพ Monitor ก่อนตัดสินใจซื้อ จอภาพมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนั้น ที่ใช้กันหลักๆ ก็คือจอภาพแบบ LCD Monitor ชื่อในท้องตลาด จะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

- LCD Monitor
- LED Monitor

 

LCD

ย่อมาจาก Liquid Crystal Display โดยรุ่นแรก จะใช้หลอดไฟส่องหลังจอแบบ CCFL (Cold Cathode Fluorescent Lamp) ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดผอมแบบหลอดไฟบ้าน เรียงในแนวนอนยาวลงมาเป็นตัวกำเนิดแสง และมี Liquid Crystal เป็นผลึกแข็งกึ่งเหลวคอยบิดตัวเป็นองศาเพื่อให้แสงแบ็คไลท์ (สีขาว) ลอดผ่านทะลุ Color Filter แม่สี 3 สี ทั้งสีแดง น้ำเงิน เขียว เพื่อแสดงออกมาเป็นสีสันต่างๆ

 

ชื่อในท้องตลาดจะเรียกจอแบบนี้ว่า LCD Monitor

(ก็คือ LCD Monitor ที่มี Back light เป็นหลอด CCFL )

 

CCFL Backlight

 

LED

ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบไฟส่องหลังจอ (Back light) เป็นแบบ LED (Light Emitting Diode) ซึ่งใช้หลอด LED เป็นตัวกำเนิดแสง และมี Liquid Crystal เป็นผลึกแข็งกึ่งเหลว 3 สีทั้งสีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว คอยบิดตัวเป็นองศาเพื่อให้แสงจากหลอด LED ส่องลอดผ่านออกมาเป็นสีสีนต่างๆ

 

ชื่อในท้องตลาดจะเรียกจอแบบนี้ว่า LED Monitor

(ก็คือ LCD Monitor ที่มี Back light เป็นหลอด LED) 

 

โดยในปัจจุบันจอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ที่มีขายจะเป็นจอ LCD ที่มีไฟส่องหลัง Back light เป็นแบบ LED กันหมดแล้ว

 

     

 

 

 

LED VS. CCFL

 

ต่อมา เรามาดูเสป็คจอมอนิเตอร์ในส่วนหลักๆ ที่สำคัญกันครับ

 

Tech Spec ของจอ Dell UP2716D

 

Tech Spec ของจอ BenQ SW2700PT

 

1. Panel หรือตัวแผงจอที่ทำให้เกิดภาพ

มีหลักๆ 2 ชนิด

 

1.1 Panel แบบ TN (Twisted Nematic)

 

ชื่อเต็มว่า “Twisted Nematic + film” หรือบางทีเรียกว่า จอ TFT LCD (thin-film transistor) เป็นประเภทของ LCD Panel ที่มีการผลิต และใช้งานอย่างแพร่หลายที่สุด เนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ และความสามารถในการตอบสนองของการเปลี่ยนสีที่รวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยง effects อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น shadow trails และ ghosting artifact

 

TN Panel มีข้อเสียในเรื่องของมุมมองการรับชมที่ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะมุมมองการรับชมในแนวตั้ง และ TN Panel หลายๆ ตัวสามารถแสดงผลได้ 6 บิทต่อ 1 สี (6 bits per color) แทนที่จะเป็นแบบ 8 บิทต่อ 1 สี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ TN Panel แบบ 6 บิทไม่สามารถแสดงสีได้ถึง 16.7 ล้านสีได้ (16.7 ล้านสี หรือ 24-bit truecolor) และเมื่อนำ panel เหล่านี้มาต่อกับ source ที่เป็น true color มันจะจำลอง (interpolate) เฉดสีอื่นๆ ที่มันไม่สามารถแสดงได้ขึ้นมาโดยการใช้เทคนิค dithering ซึ่งเป็นการรวมเอาพิกเซลที่อยู่ใกล้เคียงกันมาคำนวณและจำลองสีที่ต้องการออกมา

 

สรุป ข้อดี

- ราคาไม่แพง เริ่มจากหลัก 3-4 พันถึงหมื่นต้นๆ ตามขนาดความกว้างจอ

- response time สูง กับทำให้สูงมากได้ เล่นเกมส์นี้เหมาะเลย

 

ข้อด้อย

- มุมมองค่อนข้างแคบ เวลาทำงานต้องเป็นคนคอแข็ง มองจอตรงตั้งฉาก ไม่ขยับขึ้นลง ดูได้คนเดียว เพื่อนข้างๆดูด้วยไม่ได้สีเพี้ยน

- การแสดงสีไม่กว้าง เต็มที่คือประมาณ sRGB แบบ 6 ถึง 8 บิตต่อสี แปลว่าทำรูปไม่ค่อยเวิร์ค เอาไว้ใช้งานทั่วไป ดูเว็บ เช็คเมล์ต่างๆ น่าจะเหมาะ

 

1.2 Panel แบบ IPS (in-plane switching)

 

ถูกพัฒนาขึ้นโดยฮิตาชิ ในปี 1996 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงข้อเสียของ TN panel ในแง่ของมุมมองการรับชมและความสามารถในการแสดงสี

 

ผู้ผลิต IPS Panel ดูตามรายชื่อด้านล่าง รายใหญ่ในปัจจุบันคือ LG

 

LG Display (mentioned as largest supplier of IPS LCDs in 2012)[1]

Samsung Display

Sony Professional Display

Japan Display Inc.

Panasonic Liquid Crystal Display Co., Ltd

AU Optronics

Acer

 

IPS Panel ยังได้ถูกพัฒนาต่อยอดออกมาอีกหลายประเภท ดังนี้:

 

AS-IPS – Advanced Super IPS ถูกพัฒนาโดยฮิตาชิในปี 2002 โดยได้รับการปรับปรุง contrast ratio ให้ดีขึ้น ซึ่ง AS-IPS panel ได้ถูกใช้โดยจอของ NEC


A-TW-IPS – Advanced True White IPS พัฒนาโดย LG Philips ให้กับ NEC โดย Panel ชนิดนี้ได้รับการปรับปรุงโดยเพิ่ม color filter เพื่อให้สีขาวดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น และเพิ่ม color gamut ให้ใกล้เคียงกับจอ CRT มากขึ้น จึงมีการนำ Panel ประเภทนี้ไปใช้กับจอ LCD สำหรับมืออาชีพที่ทำงานด้านภาพถ่ายที่ต้องการความแม่นยำของสีสูง


H-IPS – เป็นอีกหนึ่ง panel ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก IPS โดยได้รับการปรับปรุงเรื่อง Backlight bleeding, เรื่องสีออกโทนม่วงเวลามองจากมุมด้านข้าง และลด noise ลงด้วย แต่การปรับปรุงเหล่านี้ก็ทำให้มุมมองในการรับชมแคบลงกว่าเดิม

 

มีอีกเยอะ เพราะพัฒนาตลอด ดูตามรูปประกอบละกันครับ

 

ลำดับการพัฒนาเทคโนโลยีจอแบบ IPS

 

เทคโนโลยีล่าสุดของ IPS panel จาก LG คือ AH-IPS (Advanced High Performance In-Plane Switching) มีใช้ในจอไฮเอ็นอย่าง EIZO CG277 และ DEL ซีรี่ย์ Premier color เช่น U2413, U2713H, UP2516D, UP2716D

 

สรุป ข้อดี

มุมมองกว้าง แนวตั้ง/แนวนอน 178/178 องศา - ให้คอนทราสที่สูง ประมาณ 1000 : 1 และ สีดำ ดำลึกกว่า - มีขอบเขตการแสดงสีได้กว้าง จาก sRGB ไปจนถึง Adobe RGB ในจอแบบไฮเอ็นแบบ Wide Gamut จึงเหมาะเอามาทำงานภาพถ่ายที่สุด 

 

ข้อด้อย

ราคาสูง จอประเภทนี้เริ่มจากหลักหมื่นต้นๆ ไปถึงหลักแสนต้นๆ สำหรับจอไฮเอ็น

 

 

2. Backlight Technology

 

2.1 W-LED หรือ White LED

คือใช้หลอด White LED หรือ LED สีขาว เป็นไฟส่องหลังจอ White LED จะใช้กับจอในท้องตลาดกว่า 90%

 

เช่น จอPC ขนาด 24 นิ้ว ราคาเกือบหมื่น ถึงหมื่นต้นๆ, จอแม็คบุคโปร, ไอแม็ค, ไอโฟน ,ไอแพด, สมาร์ทโฟน

 

จริงๆ แล้ว White LED หรือหลอด LED สีขาว คือการนำหลอด Blue LED มาเคลือบด้วยสารฟอสเฟอร์สีเหลือง เพื่อให้แสงออกมาสีขาว แต่ก็ไม่ขาวตรงสักเท่าไหร่ ออกจะอมฟ้าๆ (หรือที่สมัยนี้ฮิตเรียกว่าแสงสีฟ้าจากจอภาพมาทำลายสายตานั่นเอง) ให้เสปคตรัมสีที่แคบ คืออยู่ในช่วง sRGB แบบ 8 บิตต่อสี หรือ 16.7 ล้านสี

 

เสปคตรัมสี ของ Back light แบบ White LED

 

2.2 แบบใช้หลอดLED แยกหลายสี

เช่น RGB LED หรือ รุ่นล่าสุดจะเป็นแบบ GB-r LED (ใช้ในจอไฮเอ็นอย่าง EIZO และ DELL ซีรี่ย์สูงแบบ Premier color) จอที่ใช้หลอด LED แบบนี้ จะให้ขอบเขตสีที่กว้างกว่าจอทั่วไป แบบที่เราเรียกกันว่าจอแบบ Wide Gamut ปัจจุบันสามารถแสดงสีได้ถึง 100% AdobeRGB

 

ตอนคาลิเบรทจอ จะสามารถปรับค่าแสง RGB แยกกันได้ ทำให้การคาลิเบรทได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าจอแบบ W-LED จอแบบนี้รุ่นไฮเอ็น สามารถแสดงสีได้ถึง 10 บิตต่อสี หรือ หนึ่งพันล้านสี (ต้องต่อผ่าน Display Port กับ HDMI เท่านั้น ถ้าต่อผ่าน DVI หรือ VGA จะไม่ซัพพอร์ท)

 

เสปคตรัมสี ของ Back light แบบ GB-r LED

 

 

3. ขนาดจอภาพ

 

จอภาพเราจะวัดขนาดจากเส้นแทยงมุมครับ Diagonally Viewable Size เช่น 21 , 24 ,27 นิ้ว คือความยาวของเส้นแทยงมุมของจอภาพ

 

 

 

4. เรื่องความละเอียดของจอ Resolution

 

จอที่เหมาะกับงานทำรูป ควรเริ่มจาก 21 นิ้ว 24 นิ้ว หรือ 27 นิ้ว

 

จอขนาด 21 หรือ 24 นิ้ว ควรมีความละเอียดแบบ Full HD หรือ 1920 x 1080 พิกเซล เป็นอย่างต่ำ

 

จอขนาด 27 นิ้ว ควรมีความละเอียดแบบ Q HD หรือ 2560 x 1440 พิกเซลขึ้นไป

 

ภาพเปรียบเทียบ resolution 2 แบบ บนจอ 27 นิ้ว

 

 

5. ความสามารถในการแสดงสี

 

- 8 บิตต่อสี แสดงสีได้ 16.7 ล้านสี (16.77 million colors)

 

- 10 บิตต่อสี แสดงสีได้ 1พันล้านสี (1073.74 million colors)

 

# แก้ไขเพิ่มเติมครับ : การ Setting ระบบให้รองรับระบบสี 10 บิต พันล้านสี สำหรับจอที่แสดงผลได้

1. เชื่อมต่อจอภาพกับคอมพิวเตอร์ด้วยพอร์ท Display Port หรือ HDMI

 

 

2. ตั้งค่าใน Control Panel ของการ์ดจอให้เป็น 10 บิตต่อสี

 

3. ตั้งค่า Preferences ใน Photoshop ในซัพพอร์ท 30 Bit Display
โดยไปที่ Preferences > Performance> Advanced Settings > 30 Bit Display

 

 

 

6. Hardware Calibration support

 

แปลว่ารองรับการคาลิเบรทจอแบบฮาร์ดแวร์ไหม ถ้าได้ก็จะสามารถคาลิเบรทได้เที่ยงตรงมากขึ้น โดยต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์คาลิเบรท ยี่ห้อที่จอซัพพอร์ท โดยมากเราต้องซื้อเพิ่ม (เฉพาะบางจอเช่น EIZO รุ่นทอปจะมีฝังมากับจอเลย แต่ราคาจะสูงมากตามไปด้วย)

 

X-Rite ตัวคาลิเบรทที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่จอภาพแนะนำ

 

 

7. ค่า Contrast Ratio

 

ค่าความเปรียบต่างจากมืดไปสู่สว่างสุด แนะนำว่าไม่ควรตำกว่า 287 ต่อ 1 , จอ IPS รุ่นใหม่ๆทำได้สูงถึง 1000:1

 

แนะนำ ควรปรับค่า Contrast ที่จอไปที่ 80-90 %

 

 

8. ค่า Brightness ความสว่าง

 

ปกติทำรูปเราใช้กันที่ 100 -120 cd/m2

 

เสป็คจอทั่วไปจะอยู่ที่ ประมาณ 300 cd/m2 และจอจากโรงงานส่วนมากจะปรับค่า Brightness มาที่ 90 เบื้องต้นควรลดลงเหลือประมาณ 30 ก่อน ถ้ายังไม่ได้คาลิเบรท

 

 

9. มาตรฐานต่างๆ ที่ควรรู้

 

มาตรฐานต่างๆ ที่ควรรู้

 

DCI-P3 มาตรฐานงานภาพยนต์

sRGB มาตรฐาน Internet

AdobeRGB มาตรฐานงาน Photo

 

 

10. Color Support

 

เช็คดูว่าจอตัวนี้สามารถแสดงสีได้กว้าง-แคบแค่ไหน จอทั่วไป ส่วนมากในเสป็คจะไม่บอก ก็พอเดาได้ว่าประมาณช่วง sRGB หรือแคบกว่านั้น

แต่ถ้ามีบอกก็จะเป็นจอ Wide Gamut เช่นแสดงสีได้ถึงกี่ % ของ AdobeRGB

 

 

** เรื่องของ sRGB กับ AdobeRGB อ่านเพิ่มเติมได้จาก บทความนี้ sRGB หรือ AdobeRGB ใช้อะไรดี?ครับ 

 

 

สรุป วิธีดูเสป็คจอภาพหลักๆ มี

 

  1. Panel จอ เป็น TN หรือ IPS (ใช้ทำรูปเลือก IPS)
  2. Backlight Technology หลอดไฟส่องหลัง เป็นแบบหลอดสีเดียว W-LED หรือแบบ แยกหลายสี
  3. ขนาดของจอที่จะเลือกใช้ แนะนำ 24-27 นิ้ว กำลังดี
  4. ความละเอียดของจอ ขอไม่ต่ำกว่า Full HD ถึง Q-HD
  5. ขอบเขตความกว้างของสี sRGB ถึง AdobeRGB
  6. จำนวนสีที่แสดงได้ 8 บิต 16 ล้านสี หรือ 10 บิต พันล้านสี
  7. จอจะถูกจะแพงแค่ไหน เอามาทำรูป ต้องมาคาลิเบรทใหม่ก่อนใช้งานทุกจอ เน้นนะครับว่าทุกจอ และควรคาลิเบรทสม่ำเสมอทุกๆ 200 ชั่วโมง
  8. ถ้าจะซื้อจอมาทำรูปเพื่องาน Print ควรติดตั้ง Hood ให้กับจอภาพด้วย เพื่อลดการรบกวนจากแสงรอบช้าง (ซึ่งจะทำให้สีและคอนทราสของจอเพี้ยนไปได้)

 

 

ยาวมากแล้ว จบดีกว่าครับ
ปล. ขอบคุณที่อ่านจนจบ

 

บันทึกที่บ้าน
18/07/2016
สมชายการช่าง

 

หมายเหตุ : บทความนี้ เขียนเพื่อให้ความรู้เป็นวิทยาทาน สามารถแชร์ได้ตามสะดวก
แต่ไม่อนุญาติให้ก๊อปปี้แล้วไปแปะตามเว็บอื่นๆ หรือเอาไปแก้ไขดัดแปลงแล้วใส่ชื่อตัวเองแทน

sRGB vs AdobeRGB

sRGB vs AdobeRGB

sRGB vs AdobeRGB

sRGB หรือ AdobeRGB ใช้อะไรดี?

 

ปัญหาหลักๆ อันนึงสำหรับช่างภาพมือใหม่ หรือที่ผู้ที่เริ่มสนใจเรื่องสีในงานภาพถ่ายก็คือ

จะเลือกใช้อะไรดี ระหว่าง sRGB กับ AdobeRGB เพราะมีให้เลือกตั้งแต่ตอนเซ็ทอัพกล้องก่อนจะถ่ายภาพ

 

....บางคนก็ว่า ใช้ sRGB สิ เค้าตั้งมาให้จากโรงงานแล้ว ใช้ง่าย ใช้ได้เลย

....บางคนก็บอก ไม่ได้ๆ ใช้ sRGB แล้วได้สีไม่สด ต้องมาใช้ AdobeRGB สิ สีสวยกว่า มืออาชีพเค้าใช้กันทั้งนั้นแหละ

 

ผมขอเริ่มจากคำอธิบายจากผู้ผลิตกล้อง ที่แนะนำไว้ในคู่มือกล้อง ก่อนนะครับ

 

ภาพจากคู่มือกล้อง Nikon D700

 

ในคู่มือกล้องจากผู้ผลิตอธิบายไว้ว่า...

 

sRGB สำหรับใช้แสดงภาพ หรือ อัดภาพที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องการปรับแต่งนัก

AdobeRGB จะให้จำนวนสี และ ขอบเขตของสีมากกว่า sRGB เหมาะสำหรับภาพจะนำไปแต่งเพิ่ม หรืองานสิ่งพิมพ์ หรือการพานิชย์

มีคำอธิบายอยู่สั้นๆ แค่นี้

คิดว่าหลายท่านคงสงสัยว่า แล้วยังไงต่อหละ มันมีผลดี ผลเสียอะไรไหม... ผมเลยขออธิบายเสริมอีกนิดนะครับ

 

Color Space หรือแปลไทยง่ายๆว่า “ช่วงความกว้างของสี” สร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้กับไฟล์ภาพ ว่า ไฟล์ภาพนั้นๆ มีขอบเขตการแสดงสี กว้าง-แคบ แค่ไหน

 

sRGB

เกิดจากความร่วมมือกันของวิศวกรของ Microsoft กับ HP คำว่า sRGB ย่อมาจากคำว่า Standard RGB คิดขึ้นและนำมาใช้งานกันเมื่อปี ค.ศ. 1996

 

อุปกรณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะผลิตขึ้นมาให้ทำงานในช่วงสีนี้ เพราะถือว่าเป็นค่ามาตรฐาน ( Standard) เช่น จอภาพมอนิเตอร์ กล้องถ่ายภาพ เครื่องพิมพ์ ฯ

 

แต่ sRGB มีช่วงสีไม่ค่อยกว้างนัก ไม่เหมาะกับงานสิ่งพิมพ์ แต่เหมาะกับใช้งานรูปบนเว็บไซด์ อินเตอร์เน็ท ร้านปริ๊นท์รูปทั่วไป (Photo Lab) เพราะมีกามุตสี ใกล้เคียงกับจอภาพที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไป

 

sRGB

 

 

AdobeRGB (1998)

หลังจาก sRGB ประกาศออกมาใช้งานสักพัก ทาง บ.อโดบี ก็เห็นว่า sRGB มีกามุตสีที่แคบเกินไปสำหรับงานสิ่งพิมพ์ ทำให้สีในช่วง เหลือง เขียว น้ำเงิน ที่หมึกพิมพ์สามารถพิมพ์ออกมาได้ โดนตัดออกไป ทางอโดบีจึงคิดค้นโปรไฟล์สีมาใหม่ ให้เหมาะกับงานสิ่งพิมพ์ และ ประกาศออกมาเมื่อปี 1998 โดยใช้ชื่อว่า AdobeRGB (1998)

 

AdobeRGB (1998)

 

ทีนี้ลองมาดูขอบเขตสี (Color Gamut) เปรียบเทียบกันระหว่าง sRGB กับ AdobeRGB (1998) เทียบกับขอบเขตสีที่ตามนุษย์มองเห็น

 

sRGB เทียบกับ AdobeRGB

 

ถ้าดูจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ AdobeRGB จะมีขอบเขตสีที่กว้างกว่า sRGB หรือพูดง่ายๆ ว่า มีสีที่สดกว่า เราก็ควรจะใช้อันนี้สิ เพื่อให้ภาพที่เราถ่ายมา มีสีที่สดใสสวยงาม

 

ไฟล์รูปเดียวกัน แต่ใช้ Color Profile ต่างกัน

 

แต่.... การนำ AdobeRGB มาใช้งาน แค่เลือกเซ็ทค่า AdobeRGB แต่ในกล้องอย่างเดียว โดยที่เราไม่เข้าใจเรื่อง ระบบการจัดการสี(CMS) แล้วจะนำมาใช้งานเลย มันไม่ได้นะครับ จะได้ผลเสีย มากกว่าผลดี ตอนเรานำเอารูปไปใช้งาน (เช่น ส่งปริ๊นท์ที่แล็บ แล้วสีซีดลง)

 

คำแนะนำเบื้องต้น

 

แบบที่ 1.

กล้องเกือบทุกตัวบนโลก ถูกตั้งค่าตั้งต้นมาเป็น sRGB, จอภาพมอนิเตอร์ทั่วไป ทั้ง PC และ Mac มีกามุตสีที่ใกล้เคียง sRGB ,เครื่องพิมพ์ภาพแบบ Photo Lab ก็มีกามุตสีแบบ sRGB

ถ้าเราไม่อยากรู้ หรือศึกษาเพิ่มเติม เรื่องระบบการจัดการสี (CMS) เราแค่ถ่ายภาพแบบ Jpeg แล้วโพสต์, แชร์, เอามาทำเว็บไซด์ ,ทำงานนำเสนอต่างๆ บนจอภาพ หรือส่งปร๊นท์แล็บสีราคาประหยัด หรือเป็นช่างภาพจบหลังกล้อง ถ่ายเสร็จเอาไปใช้งานเลย

sRGB เหมาะกับคุณที่สุด

 

แบบที่ 2

ถ้า ... คุณเป็นช่างภาพที่ถ่ายงานเพื่องานสิ่งพิมพ์ ที่ต้องส่งงานโรงพิมพ์ ช่างภาพประจำนิตยสาร หรือช่างภาพคอมเมอเชียล ที่ต้องการงานคุณภาพสูงกว่าทั่วไป

AdobeRGB เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณ

 

แต่เพื่อสีที่ดีขึ้น ชีวิตการทำงานของคุณ ก็ต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นหลายๆ อย่าง เช่น

1. เริ่มจากคุณต้องตั้งค่าในกล้องให้เป็น AdobeRGB

2. จอภาพมอนิเตอร์ที่ใช้ ต้องสามารถแสดงสีได้ถึงขอบเขต AdobeRGB ถ้าจอคุณแสดงสีได้แค่ sRGB คุณจะเห็นสีจากไฟล์รูปได้ไม่หมด ไม่ครบ จะมีสีที่คุณมองไม่เห็นซ่อนอยู่ คุณจะปรับแต่งภาพต่อได้ยังไงหละ

3. ต้องมีการเปลี่ยนค่า Color Setting ใหม่ใน Photoshop ให้ใช้ AdobeRGB เป็น Working Space ของโปรแกรม จากเดิมที่โปรแกรมตั้งไว้เป็น sRGB

4. เมื่อจะนำไฟล์รูปไปใช้งานอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ส่งโรงพิมพ์ออฟเซ็ท หรือ Pro Photo Lab ต้องมีการ Convert ให้เป็น sRGB ก่อน เช่น อัพขึ้นเว็บไซด์ อินเตอร์เน็ท ส่งอีเมล์ หรือส่งปริ๊นท์ตามแล็บสีทั่วไป

 

เปรียบเทียบกามุตสีของ sRGB กับจอ iMac จะมีกามุตสีเกือบเท่ากัน

 

* ถ้าท่านใช้จอภาพทั่วไป ทั้ง PC และ Mac แนะนำให้ใช้โปรไฟล์สีแบบ sRGB ซึ่งมี color gamut ใกล้เคียงกัน

 

เปรียบเทียบกามุตสีของ AdobeRGB กับจอภาพประเภท Wide Gamut

 

* ถ้าจะใช้งานโปรไฟล์สี AdobeRGB ควรใช้จอภาพแบบ Wide Gamut ที่แสดงผลได้ถึงช่วง AdobeRGB ด้วย

 

 

สรุปครับ

 

sRGB

ของพร้อมใช้ สำหรับใช้งานทั่วๆไป เน้นงานชมบนจอภาพ

 

AdobeRGB

ให้สีสดกว่า สำหรับงานสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ต้องมีขั้นตอนการนำไปใช้งาน

 

 

บันทึกที่บ้าน
สมชาย
12/05/2016

 

 

อัพเดท 25-05-2016

รีวิวจอมอนิเตอร์ Wide Gamut AbobeRGB ที่มีขายในบ้านเราตอนนี้และราคาไม่แรง

1. รีวิว จอ DELL UP2716D

2. รีวิว จอ BenQ SW2700PT

3. รีวิว จอ BenQ SW320  

Introducing How to choose black and white films

Introducing How to choose black and white films

Introducing How to choose black and white films

แนะนำมือใหม่ เลือกใช้ฟิล์มขาวดำแบบต่างๆ

ช่วงนี้กระแสคนหันมามาถ่ายภาพจากฟิล์มกันมากขึ้นเรื่อยๆ ฟิล์มก็มีขายกันมากมายหลายช่องทาง ร้านค้าจริง ร้านค้าออนไลน์ หรือ ในเฟสบุคเอง ก็เห็นมีคนเปิดร้านขายกันเต็มไปหมด
ผมเลยอยากจะเขียนบทความแนวเป็นไกด์ไลน์ ให้คนถ่ายฟิล์มมือใหม่ ได้พอเข้าใจ และเลือกใช้งานกันได้สะดวกขึ้น
โดยขอเริ่มจากเรื่องของ ฟิล์มขาวดำ ก่อน โดยจะกล่าวถึงเฉพาะ ฟอร์แมท 135 ( 35 มม.) ที่นิยมใช้กันทั่วไป
ผมจะขอแบ่งออกเป็น Level ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย สัก 3 Level แล้วกันนะครับ


1. Entry-level

ระดับเริ่มต้น คนเพิ่งหัดถ่ายแรกๆ นิสิต นักศึกษา โดยระดับนี้จะเน้น ราคาประหยัด ฟิล์มมีช่วงรับแสงกว้าง ( Wide Exposure Latitude ) ทำให้ถ่ายง่าย ถ่ายโอเว่อหรืออันเด้อ สัก 1-2 สต๊อป ก็ยังได้ภาพที่พอใช้งานได้อยู่ ไม่ต้องการการเก็บรักษาที่ซีเรียส ฟิล์มระดับนี้ ได้แก่

FOMA

 FOMAPAN

ฟิล์ม FOMA รุ่น FOMAPAN ฟิล์มขาวดำราคาประหยัด จากสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) แบรนด์ FOMA ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1921, FOMAPAN เป็นฟิล์มขาวดำมีช่วงรับแสงกว้าง ความไวแสงมีให้เลือก ISO 100 , 200 และ 400 โทนจะออกแนวเก่าๆ อนุรักษ์นิยม โอลด์สไตล์ ราคาอยู่ประมาณ 150 -160 บาท

 

Kentmere

Kentmere 100, 400

ฟิล์ม Kentmere เปิดตัวในปี 2009 ผลิตโดย Harman Technology ประเทศอังกฤษ เจ้าของเดียวกับ ILFORD โดยกำหนดตลาดไว้ต่ำกว่าฟิล์ม ILFORD ให้เป็นฟิล์มขาวดำรุ่นเริ่มต้น ราคาประหยัด มีช่วงรับแสงกว้าง ใช้ง่าย ความไวแสงมีให้เลือก ISO 100 และ 400 ราคาอยู่ประมาณ 120-140 บาท

 

ILFORD PAN

(General purpose budget panchromatic film for selected markets )

ILFORD PAN 100, PAN 400

ฟิล์มขาวดำ รุ่นเริ่มต้น ราคาประหยัด ของทาง ILFORD แบรนด์ขาวดำคุณภาพที่มีชื่อเสียงมายาวนานจากประเทศอังกฤษ มีให้เลือกทั้ง ISO 100 สำหรับถ่ายกลางแจ้งทั่วไป เช่น แลนสเคป ถาปัตย์ และ ISO 400 สำหรับงานแสงน้อยอย่างถ่ายสตรีท ราคาอยู่ประมาณ 140-150 บาท


 

2. Standard Level

ระดับคุณภาพมาตรฐาน ใช้งานกันมายาวนานในวงการหลายสิบปี

ILFORD FP4 Plus
(Fine grain, general purpose panchromatic film with a wide exposure latitude. Originally launched as Ilford Fine grain Panchromatic emulsion in 1935. )

ILFORD FP4 Plus

ฟิล์มขาวดำรุ่นมาตรฐาน จาก ILFORD แบรนด์ขาวดำคุณภาพที่มีชื่อเสียงมายาวนานจากประเทศอังกฤษ มีความไวแสงปานกลางที่ ISO 125 ให้เกรนละเอียด เหมาะกับงานทั่วไป ที่มีสภาพแสงดี ราคาอยู่ประมาณ 200 บาท

 

ILFORD HP5 Plus
(Medium contrast, general purpose panchromatic film with a wide exposure latitude. A film tracing its heritage back to the Ilford HyPer sensitive emulsion in 1931. Well suited to photojournalism. Available as Single use camera )

ILFORD HP5 Plus

ILFORD HP Plus ฟิล์มขาวดำรุ่นมาตรฐานแบบความไวแสงสูง จาก ILFORD แบรนด์ขาวดำคุณภาพที่มีชื่อเสียงมายาวนานจากประเทศอังกฤษ มีความไวแสงสูงที่ ISO 400 ให้ความคมชัด แม้ในสภาพแสงน้อย เหมาะกับงานเดินถ่าย เช่น สตรีท สารคดี ข่าว ฯ เมื่อเจอสภาพแสงน้อยมาก สามารถล้างเพิ่มเวลาได้ ( Push Processing) ไปที่ 800, 1600 หรือ 3200 ได้ ราคาอยู่ประมาณ 200 บาท

 

Kodak Tri-X 400
( Traditional cubic grain panchromatic film with high contrast, re-engineered in 2007 with a finer grain. Classic photojournalist film. )

Kodak Tri-X 400

Kodak Tri-X 400 ฟิล์มขาวดำ รุ่นคลาสสิคของ KODAK ประเทศอเมริกา ที่ผลิตกันมาตั้งแต่ปี 1954 ได้รับความนิยมมายาวนานกว่า 65 ปี เนื้อฟิล์มเกรนแบบดั้งเดิม (Traditional grain ) ให้ความคมชัดสูง Tri-X เป็นฟิล์มระดับมาตรฐานที่ได้รับการไว้วางใจจากช่างภาพมืออาชีพมายาวนาน มีความไวแสงที่ 400 สามารถล้างเพิ่มเวลาได้ ( Push Processing) ไปที่ 800, 1600 หรือ 3200 ได้ ราคาอยู่ประมาณ 220 บาท


 

3. Professional Level

ก่อนจะไปต่อ ขอเล่าเรื่องชนิดของผลึกสารไวแสงของฟิล์มขาวดำ หรือที่เราเรียกกันว่า เกรน (grain) เพิ่มเติมสักนิดก่อน

ชนิดของฟิล์มขาวดำ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. แบบ Traditional grain
2. แบบ Tabular grain

แบบ Traditional grain เป็นเกรนแบบดั้งเดิม มีลักษณะการฉาบสารไวแสงเป็นจุดๆ ผลึกจะเป็นเม็ดใหญ่ ยิ่งฟิล์มความไวสูงขึ้น ต้องฉาบสารไวแสงหนาขึ้น เกรนก็จะยิ่งขนาดใหญ่ตามไปด้วย ฟิล์มประเภทนี้ เมื่อเอามาอัดขยายเป็นภาพขนาดใหญ่ๆ หน่อย ก็จะเห็นเกรนบนภาพชัดเจน ที่เราเรียกกันว่า “เกรนแตก”

แบบ Tabular grain หรือเรียกสั้นๆ ว่า T-grain เป็นฟิล์มยุคถัดมาที่พัฒนาตัวผลึกสารไวแสงใหม่ ตัวผลึกสารไวแสงจะบางและแบนราบ ทำให้ฟิล์มชนิดนี้มีเนื้อละเอียดกว่าแบบเดิมมาก และไม่ค่อยขึ้นเป็นเม็ดเกรน เวลาทำฟิล์มมาอัดขยายรูป หรือแสกนเป็นไฟล์ภาพ

ในเลเวลโปรนี้ ผมจะจัดให้กับฟิล์มขาวดำ ที่เป็นแบบ T-grain ซึ่งได้แก่ ฟิล์ม T-Max ของKodak , ฟิล์ม Delta ของ ILFORD และ ฟิล์ม Neopan ของ Fujifilm

ภาพเปรียบเทียบ ซ้าย T-Grain, ขวา Traditional grain

 

Kodak T-MAX 100
(Modern general purpose continuous tone 'T' grain panchromatic film )

Kodak T_MAX 100

ฟิล์ม T-MAX 100 คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่เนียนสุด คมสุด และดีที่สุดของ โกดัก เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 1986 (พ.ศ. 2529) มีความไวแสงต่ำสุดในซีรีย์ T-Max คือที่ ISO 100
เป็นฟิล์มที่มีช่วงรับแสงกว้าง เก็บรายละเอียดได้ดี ไล่โทนได้ต่อเนื่อง เหมาะกับงานที่ต้องการคุณภาพที่เป็นที่สุด
แต่เนื่องจากเป็นฟิล์มเกรดโปร จึงต้องดูแลเป็นพิเศษ คือต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ(แช่เย็น) และให้คุณภาพดีที่สุด เมื่อล้างด้วยน้ำยาเฉพาะของฟิล์ม T-Grain เช่น T-Max Developer ราคาอยู่ประมาณ 260 บาท

T-max 100 ถ่ายที่ EI 800

ภาพตัวอย่าง ถ่ายด้วยฟิล์ม T-Max 100 Push 3 สต๊อป เป็น ISO 800

 

Kodak T-Max 400

(Modern general purpose continuous tone 'T' grain panchromatic film)

Kodak T-Max 400

ฟิล์ม T-MAX 400 คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่ไวแสงสูงขึ้นกว่า T-max 100 ถึง 2 สต๊อป ทำให้ใช้งานสะดวก แม้ถ่ายในทึี่แสงไม่ค่อยมาก แต่ยังมีความคมชัด และรายละเอียดสูงอยู่ น้องๆ ตัวความไว 100 มีช่วงรับแสงกว้าง สามารถปรับเพิ่มความไวแสง 1 สต๊อป คือ จาก 400 ไป 800 ได้โดยยังคงเวลาล้างเท่าเดิม คือได้คุณภาพเท่าเดิมนั่นเอง เป็นฟิล์มที่น่าใช้อีกตัวนึงครับ ราคาอยู่ประมาณ 290 บาท

ภาพลุงติ๊ก ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2531 ฟิล์ม Kodak T-Max 400 ล้างน้ำยา T-Max Developer เวลาล้าง Normal

 

Kodak T-Max 3200

(Multi -speed continuous tone 'T' grain panchromatic film. Originally launched in 1998 the film was discontinued in 2012. Re-launched in USA and Europe 4 March 2018. The “P” means although its an ISO 800 film it’s designed to be push processed to an EI 3200 or higher )

Kodak T-Max 3200

ฟิล์ม T-MAX 3200 เป็นฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่ไวแสงสูงมากที่สุดในโลก คือมากกว่าความไวแสง 100 ถึง 5 สต๊อป ทำให้นำไปถ่ายภาพในที่แสงน้อยมากๆ ภาพกลางคืน ภาพแอคชั่นต่างๆ ได้สะดวกมาก เรียกว่าถ่ายกลางคืนได้แบบไม่ต้องใช้ขาตั้งช่วยกันเลย (ความไวแสงของฟิล์มจริงๆ ประมาณISO 800 แต่ใช้การล้างเพิ่มเวลาดันไปได้ถึง 3200 ) ราคาอยู่ประมาณ 340 บาท

 

ILFORD DELTA 100 Pro

(Very fine grain modern panchromatic professional film using core-shell crystal technology, ilfords response to Kodak T-MAX. )

ILFORD DELTA 100 Pro

ฟิล์ม ILFORD DELTA 100 Pro คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่มีความไวแสงต่ำสุดของ อิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เริ่มผลิตเมื่อปี 1992 (หลังจาก T-Max ของโกดัก 6 ปีได้) คุณลักษณะก็จะคล้ายๆ โกดัก T-Max 100 คือ Delta 100 มีเกรนละเอียดสุด คุณภาพดีสุด คมชัดสุด ในตะกูล Delta ด้วยกัน แต่มีราคาย่อมเยากว่า T-Max คือราคาประมาณ 220 บาท
*ฟิล์มจะให้คุณภาพดีที่สุด เมื่อล้างด้วยน้ำยาเฉพาะของฟิล์ม T-Grain เช่น ILFOSOL DD-X

 

ILFORD DELTA 400 Pro

(Fine grain modern panchromatic professional film using core-shell crystal technology, first released 1990, ilfords response to Kodak T-MAX)

ILFORD DELTA 400 Pro

ฟิล์ม ILFORD DELTA 400 Pro คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่มีความไวแสงสูงของ อิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จะไวกว่าตัว ISO 100 ถึง 2 สต๊อป ทำให้นำไปใช้งานในสภาพแสงหลากหลาย ได้สะดวกขึ้น ให้เกรนละเอียดแบบฟิล์ม T-Grain ราคาประมาณ 220 บาท

 

ILFORD DELTA 3200 Pro

(Modern panchromatic professional film using core-shell crystal technology for fast action and low light photography. An ISO 1000 film suitable for push processing to an E.I. of 3200 or higher.)

ILFORD DELTA 3200 Pro

ฟิล์ม ILFORD DELTA 3200 Pro คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain ที่มีความไวแสงสูงมากของ อิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จะไวกว่าตัว ISO 100 ถึง 5 สต๊อป ทำให้นำไปใช้งานในสภาพแสงน้อยมากได้สะดวก ราคาประมาณ 220 บาท
Fuji Neopan ACROS 100

“achieving ultra-high image quality with world-class granularity and three-dimensional tone reproduction"

 

Fuji Neopan ACROS 100

ฟิล์ม Fuji Neopan ACROS 100 คือฟิล์มขาวดำแบบ T-grain จากทางฟูจิฟิล์ม ประเทศญี่ปุ่น เป็นฟิล์มแบบ T-Grain ที่มีคุณสมบัติที่ดีแบบ T-Grain ทุกประการ คือเกรนละเอียด ความคมชัดสูง การไล่โทนดีงาม
และจุดเด่นสุดของฟิล์มตัวนี้คือ 'T' grain film noted for its low rate of reciprocity failure คือมีค่า reciprocity failure เมื่อใช้สปีดชัดเตอร์ต่ำๆ น้อยที่สุด ในบรรดาฟิล์มแบบทีเกรนด้วยกัน

Fuji Neopan ACROS 100

แต่ Neopan ACROS 100 ได้มีการหยุดผลิตไปได้ในปี 2018 เพิ่งมีข่าวมาไม่กี่วันว่าทางฟูจิ จะกลับมาผลิตใหม่เร็วๆนี้ คงในปี 2019 นี้ โดยใช้ชื่อเป็น Neopan ACROS 100 II
ส่วนราคาขายยังไม่ทราบ ต้องรอตอนเปิดตัวจริงๆ อีกที

 

มาถึงบรรทัดนี้ ก็คงครบแล้วครับ เรื่องฟิล์มขาวดำแบบต่างๆ ที่อยากจะเล่าให้ฟัง :)
ปล. สงสัยหรือมีคำถามใดๆ โพสต์ถามไว้ใต้บทความนี้ได้เลยนะครับ

เขียนที่บ้าน
19/06/2019
สมชายการช่าง

Zone System Episode III

Zone System Episode III

Zone System Episode III

การวัดแสงแบบ Zone System, episode III :
Expose for Detail - Process for Contrast , for Digital Camera

วันนี้เราเดินทางมาถึง EP 3 กันแล้ว ในปีที่สาม 2018 เพราะบังเอิญผมเขียนไว้ตอนละปีพอดี
เริ่มจาก

ปี 2016 EP 1 : การวัดแสง แบบ Zone System, episode I

ปี 2017 EP 2 : การวัดแสง แบบ Zone System, episode II

โดยฉบับ EP 3 นี้ จะเน้นการวัดแสงเพื่อถ่ายด้วยกล้องดิจิตอล (Digital Camera) โดยเฉพาะครับ

ทวนความเดิมอีกที การวัดแสงแบบ Zone คือการวัดแสงสะท้อน (Reflected Light) แบบเฉพาะจุด (Spot)
โดยวัดหลายๆจุด แล้วนำมาวางโซนต่าง ๆ ในภาพ

การวัดแสงแบบสะท้อน (Reflected Light)


โดยทั่วไป เครื่องวัดแสงแบบแสงสะท้อน (Reflected Light) ที่เราใช้ในกล้องดิจิตอล
มิเตอร์จะโชว์ค่า 0 หมายถึงค่าเทา 18 % หรือ โซน 5 เสมอ (ตามภาพด้านล่าง)
หรือถ้าดูค่า Level ใน Photoshop หรือ Adobe Camera Raw จะอยู่ที่ประมาณ Level 128

กล้องวัดแสงพอดี จะได้ค่าเท่ากับค่าเทา 18% หรืออยู่ที่โซน 5


ในระบบ Zone System จะมีการแบ่งค่าความสว่างของแสง จากมืดสุดไปถึงสว่างสุด เป็นกลุ่มๆ หรือเรียกว่า Zone

Zone Scale



เริ่มจากมืดสุด Zone 0 ไล่ไปจนถึงสว่างสุด Zone 10 

**ระบบดิจิตอล โซน 0 ถึง 5 จะห่างกันโซนละ 1 stop และจาก โซน 5 ถึง 9 จะห่างกันโซนละ 2/3 stop

ในระบบโซนซิสเต็ม จากโซน 0 ไปถึงโซน 10 ช่วงโซนที่มีดีเทลที่เราต้องให้ความสำคัญในการ expose คือ โซน 3 ถึง โซน 8

คือจากโซน 5 ไป 3 = 2 stop และจาก โซน 5 ไป 8 = 2 stop เช่นกัน

Shadow โซน 3 - Highlight โซน 8

 

Expose for Shadow - Develop for Highlight

ในระบบฟิล์ม เราจะวัดแสงแล้ววางโซนที่ส่วนชาโดว์ที่มีรายละเอียด คือโซน 3 แล้ววางไฮไล้ท์ที่มีรายละเอียดไว้โซน 8

ยกตัวอย่าง เราวัดแสงตรงที่จะวางไว้โซน 3 ไว้ที่ EV = 7 นับไปส่วนไฮไล้ท์ที่จะวางไว้โซน 8 ต้องห่างกัน 5 Stop

คือที่ EV= 12 ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้ เช่นไป EV = 13 ก็ต้องลดเวลาล้างฟิล์มลง N-1

หรือวัดได้ที่ EV= 11 ก็ต้องเพิ่มเวลาล้างฟิล์มเป็น N+1

และถ้านำระบบโซน(Zone System) มาใช้กับกล้องดิจิตอลหละ?

*สูตรนี้เลยครับ

Expose for Detail - Process for Contrast

ถ่าย เพื่อเก็บดีเทล และ โปรเซส เพื่อสร้างคอนทราสต์ให้ภาพ

(หมายเหตุ : คำประโยคนี้ผมคิดขึ้นเองจากประสบการณ์ทำงาน ไม่ได้ก๊อปมาสเตอร์ท่านใดมา)

ในระบบดิจิตอล จะกลับกันกับระบบฟิล์ม เราจะ Expose วางโซน ตรงส่วนสว่าง (Highlight) ที่มีดีเทลเป็นหลักในตอนถ่าย

เช่นโซน 8 เพราะดิจิตอลส่วนไฮไล้ท์ จะ โอเว่อจนหลุดไม่ได้ ต้องระวังอย่างมาก

เพราะถ้าถ่ายมาโอเว่อจะหลุดก็จะมาแก้ไขในภายหลังไม่ได้เลย ต้องเก็บมาให้ได้ในตอนถ่าย

วิธีการถ่าย คือ วัดแสง วางโซน ในส่วนไฮไล้ท์ที่มีรายละเอียด ไว้โซน 8 นับไปถึงส่วนชาโดว์ที่มีดีเทล คือ โซน 3 ต้องห่างกันอยู่ที่ 4 stop (ฟิล์ม 5 stop )

เช่น

วัด Highlight ได้ EV= 12
วัด Shadow ได้ EV= 8
ถ่ายที่โซน 5 คือ EV= 10

(ดิจิตอล จาก โซน 5 ไปโซน 8 จะห่างกัน 2 stop)

ภาพตัวอย่างซีนปกติ shadow โซน 3, Hilight โซน 8

 


การวัดแสงเป็นค่า EV (Exposure Value) จะทำให้สะดวกในการวางโซนตอนถ่าย

ตารางค่า EV

 

เครื่องวัดแสง ซ้ายแบบแสงตกกระทบ - ชวา แบบแสงสะท้อน

 

ในการถ่ายจริงนั้น เราไม่สามารถกำหนดให้แสงในส่วนที่มีดีเทลจากชาโดว์ถึงไฮไล้ท์ห่างกัน 4 stop ได้เสมอ
บางครั้งอาจจะโชคดีเจอแสงเป๊ะ หรือ บางครั้งสามารถตั้งกล้องรอแสงให้พอดีอยู่ในช่วง 4 stop ได้
แต่ถ้า subject ที่จะถ่ายแสงห่างกันมาก 6-7 stop หรือ แคบมากแค่ 2-3 stop จะวัดแสงวางโซนอย่างไร?


ตัวอย่างที่ 1. ห่างกันมากเกิน 4 stop (ช่วงมีดีเทล) ไปถึง 6 stop

แสงตอนถ่าย Highlight = โซน 9, Shadow= โซน 2

 

วิธีการถ่าย

1. ลดไฮไล้ท์ลงมาได้ไหม เช่นใส่ฟิลเตอร์ กราดูเอท ND ลดแสงไฮไล้ท์ลง
2. รอแสงให้อ่อนลงได้ไหม เช่นถ่ายตอนบ่าย 4 รอแสงไปเรื่อยๆสัก 5 โมงเย็น ให้แสงห่างกันเหลือ 4 stop
3. ขยับการ Expose จากที่วางไว้โซน 8 มาเป็นโซน 9 เพื่อให้ส่วนชาโดว์ขยับขึ้นจากโซน 1 ที่ไม่ค่อยจะมีดีเทล ขึ้นมาโซน 2
   แล้วมาลดโซนส่วนไฮไล้ท์ลงจาก 9 มา 8 ในตอนโปรเซสไฟล์ raw ในโปรแกรม ACR.

ตอนโปรเซสไฟล์ raw ลด Highlight ลงมาโซน 8

ตัวอย่างที่ 2. ห่างกันน้อยกว่า 4 stop (ภาพคอนทราสต์ต่ำ) เพียง 2-3 stop

ตัวอย่างภาพตอนถ่าย Shadow- Highlight ห่างกัน 2 stop


ถ้าเจอสภาพ Subject มีคอนทราสต์ต่ำไป ชาโดว์-ไฮไล้ท์ห่างกัน น้อยกว่า 4 stop ในภาพตัวอย่างประมาณ 2 stop
แต่ภาพแบบนี้มีข้อดี คือ โทนภาพในเทาจะไล่กันละเอียด เก็บดีเทลได้ดี เป็นภาพอีกแบบที่ผมชอบถ่าย
เวลาถ่าย ผมจะมาเน้นวางโซนชาโดว์ไว้ที่โซน 2 หรือ 3 ทำให้ส่วนไฮไล้ท์ไปตกที่ประมาณ 6 หรือ 7
แล้วในตอนโปรเซสไฟล์ ค่อยถึงในส่วน Highlight ขึ้นมาโซน 8 แล้วตามด้วยปรับคอนทราสต์ภาพเพิ่มขึ้น
ทำให้ภาพแบบนี้ ได้ทั้งดีเทลที่รายละเอียดสูงและมีคอนทราสต์สวยงามได้

ตัวอย่างภาพที่โปรเซสเสร็จแล้ว Shadow- Highlight ห่างกัน 4 stop

 

บทสรุป

การถ่ายภาพวัดแสงวางโซน สำหรับกล้องดิจิตอล เพื่อให้ได้ไฟล์ภาพที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

  • วัดแสงเฉพาะจุด วางโซนในส่วนไฮไล้ท์ก่อน โดยวางไว้ไฮไล้ท์ไว้ โซน 8 แล้วชาโดว์ต้องตกโซน 3 แสงจะห่างกันที่ 4 สต๊อป
  • ถ้าแสงห่างกันเกิน 4 สต๊อป ให้ขยับไฮไล้ท์จากโซน 8 ไปโซน 9 ห้ามเกิน 9 เพราะ 10 จะเก็บดีเทลไม่ได้
    ส่วนชาโดว์สามารถขุดขึ้นมาได้ตอนโปรเซสไฟล์ ขุดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับชนิดของเซนเซอร์กล้อง
    ที่เราถ่ายถ่ายโอเว่อไปโซน 9 เพื่อให้ขุดน้อยที่สุด
  • ถ้าแสงห่างกันน้อยเพียง 2-3 สต๊อป ให้ถ่ายวางชาโดว์ก่อน โดยไว้โซน 2-3
    แล้วมาโปรเซสเพื่อเพิ่มโซนในส่วนไฮไลท์ภายหลังตอนโปรเซสไฟล์ เราจะได้ภาพที่มีดีเทล และคอนทราสต์ที่ดี

เขียนที่บ้าน
16/06/2018
สมชายการช่าง

How to Evaluating your negatives

How to Evaluating your negatives

แนะนำวิธีดูฟิล์ม ปัญหาต่างๆ และแนวทางแก้ไข

อีกเรื่องที่ไม่เห็นมีมีใครเขียน คนถ่ายฟิล์มคงอยากรู้ หลังจากได้รับฟิล์มที่ส่งล้างกลับมา หรือล้างเองแล้วเจอปัญหาต่างๆ

ทำไมฟิล์มเราเป็นอย่างนี้? เราพลาดตรงไหน หรือแล็บล้างฟิล์มเราไม่ดี?

....ผมเองที่เคยเป็นทั้งผู้เคยส่งฟิล์มล้าง และเคยเป็นแล็บรับล้างฟิล์ม เลยอยากเขียนเล่าให้ฟังกันให้เข้าใจแบบง่ายๆ ครับ

(หมายเหตุ : ภาพทั้งหมด ผมสำเนามาจากในหนังสือ Langford’s Starting Photography, Fith Edition )

 

a. Good exposure and development

Well exposed and processed black and white negative.

Well exposed and processed black and white negative.

ถ่ายมาฟิล์มรับแสงพอดี และ ล้างฟิล์มดี เริ่มต้นด้วยการดูฟิล์มที่ดีก่อน
ฟิล์มที่ล้างดี เบสฟิล์มจะใส ตัวหนังสือของฟิล์ม จะดำและคมชัด ส่วนของภาพ จะเห็นรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่าง

 

b. Underdevelopment

Underdeveloped black and white negative.

Underdeveloped black and white negative.

อันเด้อดิวิลอปเม้นท์ หรือ ล้างฟิล์มบางไป ฟิล์มดูบาง ตัวหนังสือดูจาง เกิดจากเวลาในการสร้างภาพน้อยไป หรือน้ำยาสร้างภาพเจือจาง น้ำยาเสื่อสภาพ

 

c. Over developed

Overdeveloped black and white negative.

Overdeveloped black and white negative.

โอเว่อดิวิลอป ฟิล์มโดยรวมดูเข้มหนา ส่วนสว่างจะเข้มมาก ตัวหนังสือฟิล์มจะเข้มหนาจนดูบวม เกิดจากเวลาในการล้างนานไป อุณหภูมิในการล้างสูงไป หรือน้ำยาสร้างภาพเข้มข้นเกินไป

 

d. Under-fixed

 

Under-fixed black and white negative.

อันเด้อฟิกซ์ เบสฟิล์มโดยรวมจะไม่ใส ขุ่น ดูฝ้าๆ เป็นสีน้ำนม เกิดจากน้ำยาFixer ไม่สด เสื่อมสภาพ ใกล้หมดอายุ หรือเวลาในการฟิกซ์น้อยเกินไป
ข้อดีคือ อาการนี้สามารถแก้ได้ โดยการนำฟิล์มมาลงน้ำยาFixer ซ้ำอีกรอบ แล้วเปลี่ยนเป็นน้ำยาที่สดใหม่

 

e. Fixed first

A black and white negative that was fixed first.

A black and white negative that was fixed first.

ล้างผิด โดยลงน้ำยา fixer ก่อนน้ำยาสร้างภาพ อาการนี้คือฟิล์มจะใสแจ๋ว ไม่มีภาพ เหมือนไม่ได้ถ่ายอะไรมาเลย ตัวหนังสือที่ขอบฟิล์มก็ไม่มี ใสไปด้วย

 

f. No agitation

A black and white negative processed with no agitation. 

A black and white negative processed with no agitation.

ไม่ได้เขย่าแทงค์ตอนล้างฟิล์ม อาการตามภาพคือ การสร้างภาพบนเนื้อฟิล์มไม่สม่ำเสมอ มีฟองหากาศเกิดขึ้น ปกติการล้างฟิล์มขาวดำ ต้องมีการเขย่าแทงค์ให้น้ำยามีการเคลื่อนไหว และไล่ฟองกาศทุกๆ 30 วิ หรือทุกๆ 1 นาที ตลอดเวลาในการลงน้ำยาสร้างภาพตัวแรก

 

g. Stuck film leader

 A film leader stuck to the surface of the roll stops the chemistry getting access to correctly develop the negative.

A film leader stuck to the surface of the roll stops the chemistry getting access to correctly develop the negative.

หัวฟิล์มที่ใช้ตอนโหลดฟิล์มเข้ากล้อง ติดเข้ามาในภาพ อาการนี้แก้ไขโดยการตัดหัวฟิล์มออกทุกครั้งก่อนล้างฟิล์ม

 

h. Canister light leak

 Processed negative suffering from light leak.

Processed negative suffering from light leak.

แสงรั่วเข้าแทงค์ล้างฟิล์ม อาการคือมีแสงเข้าขอบๆฟิล์ม ขอบฟิล์มจะดูหนาทึบๆขึ้นกว่าตรงกลาง หมั่นตรวจสอบสภาพแทงค์ และฝาปิดอยู่สม่ำเสมอ หรือตรวจล้างอาจจะปิดฝาแทงค์ไม่แน่นดีพอ

 

i. Underexposed

 Film frame showing under exposure.

Film frame showing under exposure.

อาการจะคล้ายๆกับล้างฟิล์มบาง แต่อาการนี้จะต่างตรง ฟิล์มดูบาง แต่ตัวหนังสือยังเข้ม คมชัดอยู่ แปลว่าเราถ่ายมาอันเด้อเอง ฟิล์มรับแสงน้อย ไม่เกี่ยวกับการล้างฟิล์ม

 

j. Overexposed

Film frame showing overexposure. 

Film frame showing overexposure.

อาการจะดูคล้ายๆกับล้างฟิล์มหนา แต่อาการนี้จะต่างตรง ฟิล์มดูหนาทึบ มองไม่ค่อยเห็นรายละเอียด แต่ตัวหนังสือยังคมชัดพอดี ไม่ดูหนาจนบวม แปลว่าเราถ่ายมาโอเว่อ ฟิล์มได้รับแสงไปครับ ไม่เกี่ยวกับเวลาในการล้างฟิล์ม

 

k. Fogged film

The sprocket area of the film has been fogged. 

The sprocket area of the film has been fogged.

ฟิล์มฟ๊อก คือมีแสงรั่วมาโดนฟิล์ม อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ฝาหลังกล้องปิดไม่สนิท หรือมีแสงรั่วเข้ากล้องได้ หรือเผลอไปเปิดฝาหลังกล้องโดยยังถ่ายไม่หมด หรือยังไม่ได้หมุนฟิล์มกลับ หรือมาจากขึ้นตอนการล้าง อุปกรณ์ที่ใช้โหลดฟิล์มมีแสงรั่วเข้าได้

 

l. Crescent marks

 Kinking the film when loading can cause crescentshaped marks on the processed negatives.

Kinking the film when loading can cause crescentshaped marks on the processed negatives.

ฟิล์มมีรอยดำรูปครึ่งวงกลมในภาพ เกิดจากตอนโหลดฟิล์มเข้ารีลที่ใช้ล้างฟิล์ม ตอนโหลดมีการปีนร่อง ทำให้ฟิล์มหัก เกิดเป็นรอยตามภาพ

 

m. No exposure

 A film frame showing no exposure.

A film frame showing no exposure.

No Exposurte คืออาการไม่มีการฉายแสงลงบนฟิล์ม ฟิล์มล้างออกมาจะใสแจ๋ว ไม่มีภาพ แต่ตัวหนังสือที่ขอบฟิล์มคมชัด อาจเกิดจาก
- ใส่ฟิล์มในกล้องหลุด ตอนใส่ฟิล์มเข้ากล้อง ควรสังเกตุว่า เมื่อเรากดชัตเตอร์แล้วขึ้นฟิล์ม ตัวหมุนฟิล์มบนกล้องตรงที่ใส่ฟิล์มหมุนตามไปด้วยหรือไม่
- ลืมเปิดฝาปิดเลนส์ สำหรับกล้องแบบ range finder
-กล้องเสีย
-หยิบฟิล์มผิดม้วน(ยังไม่ได้ถ่าย) ไปล้าง

เล่ามาได้ 13 แบบ น่าจะพอครอบคลุมอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฟิล์มได้พอสมควรแล้วนะครับ
จบหละครับ

เขียนที่บ้าน
3/07/25019
สมชายการช่าง

CameraEyes.net

59/154 หมู่บ้านวิสุทธาวิลล์ ซอย 18, ซอยรามอินทรา 103/1 

คันนายาว, กรุงเทพมหานคร 10230

59/154 Wisuttha Vill 18, Ram Intra 103/1 

Khan Na Yao, Bangkok 10230

Thailand

Email : somchaisuriya@gmail.com

Phone : 090 201 0095

ศิลปะการถ่ายภาพ เกิดจากจินตนาการ ความนึกคิด ผู้ถ่ายจะต้องมีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ ในการถ่ายภาพอย่างเป็นขั้นตอน และ จะต้องเข้าใจในศิลปะอย่างแท้จริง