Zone System Episode III
Zone System Episode III
การวัดแสงแบบ Zone System, episode III :
Expose for Detail - Process for Contrast , for Digital Camera
วันนี้เราเดินทางมาถึง EP 3 กันแล้ว ในปีที่สาม 2018 เพราะบังเอิญผมเขียนไว้ตอนละปีพอดี
เริ่มจาก
ปี 2016 EP 1 : การวัดแสง แบบ Zone System, episode I
ปี 2017 EP 2 : การวัดแสง แบบ Zone System, episode II
โดยฉบับ EP 3 นี้ จะเน้นการวัดแสงเพื่อถ่ายด้วยกล้องดิจิตอล (Digital Camera) โดยเฉพาะครับ
ทวนความเดิมอีกที การวัดแสงแบบ Zone คือการวัดแสงสะท้อน (Reflected Light) แบบเฉพาะจุด (Spot)
โดยวัดหลายๆจุด แล้วนำมาวางโซนต่าง ๆ ในภาพ
การวัดแสงแบบสะท้อน (Reflected Light) |
โดยทั่วไป เครื่องวัดแสงแบบแสงสะท้อน (Reflected Light) ที่เราใช้ในกล้องดิจิตอล
มิเตอร์จะโชว์ค่า 0 หมายถึงค่าเทา 18 % หรือ โซน 5 เสมอ (ตามภาพด้านล่าง)
หรือถ้าดูค่า Level ใน Photoshop หรือ Adobe Camera Raw จะอยู่ที่ประมาณ Level 128
กล้องวัดแสงพอดี จะได้ค่าเท่ากับค่าเทา 18% หรืออยู่ที่โซน 5 |
ในระบบ Zone System จะมีการแบ่งค่าความสว่างของแสง จากมืดสุดไปถึงสว่างสุด เป็นกลุ่มๆ หรือเรียกว่า Zone
Zone Scale |
เริ่มจากมืดสุด Zone 0 ไล่ไปจนถึงสว่างสุด Zone 10
**ระบบดิจิตอล โซน 0 ถึง 5 จะห่างกันโซนละ 1 stop และจาก โซน 5 ถึง 9 จะห่างกันโซนละ 2/3 stop
ในระบบโซนซิสเต็ม จากโซน 0 ไปถึงโซน 10 ช่วงโซนที่มีดีเทลที่เราต้องให้ความสำคัญในการ expose คือ โซน 3 ถึง โซน 8
คือจากโซน 5 ไป 3 = 2 stop และจาก โซน 5 ไป 8 = 2 stop เช่นกัน
Shadow โซน 3 - Highlight โซน 8 |
Expose for Shadow - Develop for Highlight
ในระบบฟิล์ม เราจะวัดแสงแล้ววางโซนที่ส่วนชาโดว์ที่มีรายละเอียด คือโซน 3 แล้ววางไฮไล้ท์ที่มีรายละเอียดไว้โซน 8
ยกตัวอย่าง เราวัดแสงตรงที่จะวางไว้โซน 3 ไว้ที่ EV = 7 นับไปส่วนไฮไล้ท์ที่จะวางไว้โซน 8 ต้องห่างกัน 5 Stop
คือที่ EV= 12 ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้ เช่นไป EV = 13 ก็ต้องลดเวลาล้างฟิล์มลง N-1
หรือวัดได้ที่ EV= 11 ก็ต้องเพิ่มเวลาล้างฟิล์มเป็น N+1
และถ้านำระบบโซน(Zone System) มาใช้กับกล้องดิจิตอลหละ?
*สูตรนี้เลยครับ
Expose for Detail - Process for Contrast
ถ่าย เพื่อเก็บดีเทล และ โปรเซส เพื่อสร้างคอนทราสต์ให้ภาพ
(หมายเหตุ : คำประโยคนี้ผมคิดขึ้นเองจากประสบการณ์ทำงาน ไม่ได้ก๊อปมาสเตอร์ท่านใดมา)
ในระบบดิจิตอล จะกลับกันกับระบบฟิล์ม เราจะ Expose วางโซน ตรงส่วนสว่าง (Highlight) ที่มีดีเทลเป็นหลักในตอนถ่าย
เช่นโซน 8 เพราะดิจิตอลส่วนไฮไล้ท์ จะ โอเว่อจนหลุดไม่ได้ ต้องระวังอย่างมาก
เพราะถ้าถ่ายมาโอเว่อจะหลุดก็จะมาแก้ไขในภายหลังไม่ได้เลย ต้องเก็บมาให้ได้ในตอนถ่าย
วิธีการถ่าย คือ วัดแสง วางโซน ในส่วนไฮไล้ท์ที่มีรายละเอียด ไว้โซน 8 นับไปถึงส่วนชาโดว์ที่มีดีเทล คือ โซน 3 ต้องห่างกันอยู่ที่ 4 stop (ฟิล์ม 5 stop )
เช่น
วัด Highlight ได้ EV= 12
วัด Shadow ได้ EV= 8
ถ่ายที่โซน 5 คือ EV= 10
(ดิจิตอล จาก โซน 5 ไปโซน 8 จะห่างกัน 2 stop)
ภาพตัวอย่างซีนปกติ shadow โซน 3, Hilight โซน 8 |
การวัดแสงเป็นค่า EV (Exposure Value) จะทำให้สะดวกในการวางโซนตอนถ่าย
ตารางค่า EV |
เครื่องวัดแสง ซ้ายแบบแสงตกกระทบ - ชวา แบบแสงสะท้อน |
ในการถ่ายจริงนั้น เราไม่สามารถกำหนดให้แสงในส่วนที่มีดีเทลจากชาโดว์ถึงไฮไล้ท์ห่างกัน 4 stop ได้เสมอ
บางครั้งอาจจะโชคดีเจอแสงเป๊ะ หรือ บางครั้งสามารถตั้งกล้องรอแสงให้พอดีอยู่ในช่วง 4 stop ได้
แต่ถ้า subject ที่จะถ่ายแสงห่างกันมาก 6-7 stop หรือ แคบมากแค่ 2-3 stop จะวัดแสงวางโซนอย่างไร?
ตัวอย่างที่ 1. ห่างกันมากเกิน 4 stop (ช่วงมีดีเทล) ไปถึง 6 stop
แสงตอนถ่าย Highlight = โซน 9, Shadow= โซน 2 |
วิธีการถ่าย
1. ลดไฮไล้ท์ลงมาได้ไหม เช่นใส่ฟิลเตอร์ กราดูเอท ND ลดแสงไฮไล้ท์ลง
2. รอแสงให้อ่อนลงได้ไหม เช่นถ่ายตอนบ่าย 4 รอแสงไปเรื่อยๆสัก 5 โมงเย็น ให้แสงห่างกันเหลือ 4 stop
3. ขยับการ Expose จากที่วางไว้โซน 8 มาเป็นโซน 9 เพื่อให้ส่วนชาโดว์ขยับขึ้นจากโซน 1 ที่ไม่ค่อยจะมีดีเทล ขึ้นมาโซน 2
แล้วมาลดโซนส่วนไฮไล้ท์ลงจาก 9 มา 8 ในตอนโปรเซสไฟล์ raw ในโปรแกรม ACR.
ตอนโปรเซสไฟล์ raw ลด Highlight ลงมาโซน 8 |
ตัวอย่างที่ 2. ห่างกันน้อยกว่า 4 stop (ภาพคอนทราสต์ต่ำ) เพียง 2-3 stop
ตัวอย่างภาพตอนถ่าย Shadow- Highlight ห่างกัน 2 stop |
ถ้าเจอสภาพ Subject มีคอนทราสต์ต่ำไป ชาโดว์-ไฮไล้ท์ห่างกัน น้อยกว่า 4 stop ในภาพตัวอย่างประมาณ 2 stop
แต่ภาพแบบนี้มีข้อดี คือ โทนภาพในเทาจะไล่กันละเอียด เก็บดีเทลได้ดี เป็นภาพอีกแบบที่ผมชอบถ่าย
เวลาถ่าย ผมจะมาเน้นวางโซนชาโดว์ไว้ที่โซน 2 หรือ 3 ทำให้ส่วนไฮไล้ท์ไปตกที่ประมาณ 6 หรือ 7
แล้วในตอนโปรเซสไฟล์ ค่อยถึงในส่วน Highlight ขึ้นมาโซน 8 แล้วตามด้วยปรับคอนทราสต์ภาพเพิ่มขึ้น
ทำให้ภาพแบบนี้ ได้ทั้งดีเทลที่รายละเอียดสูงและมีคอนทราสต์สวยงามได้
ตัวอย่างภาพที่โปรเซสเสร็จแล้ว Shadow- Highlight ห่างกัน 4 stop |
บทสรุป
การถ่ายภาพวัดแสงวางโซน สำหรับกล้องดิจิตอล เพื่อให้ได้ไฟล์ภาพที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- วัดแสงเฉพาะจุด วางโซนในส่วนไฮไล้ท์ก่อน โดยวางไว้ไฮไล้ท์ไว้ โซน 8 แล้วชาโดว์ต้องตกโซน 3 แสงจะห่างกันที่ 4 สต๊อป
- ถ้าแสงห่างกันเกิน 4 สต๊อป ให้ขยับไฮไล้ท์จากโซน 8 ไปโซน 9 ห้ามเกิน 9 เพราะ 10 จะเก็บดีเทลไม่ได้
ส่วนชาโดว์สามารถขุดขึ้นมาได้ตอนโปรเซสไฟล์ ขุดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับชนิดของเซนเซอร์กล้อง
ที่เราถ่ายถ่ายโอเว่อไปโซน 9 เพื่อให้ขุดน้อยที่สุด - ถ้าแสงห่างกันน้อยเพียง 2-3 สต๊อป ให้ถ่ายวางชาโดว์ก่อน โดยไว้โซน 2-3
แล้วมาโปรเซสเพื่อเพิ่มโซนในส่วนไฮไลท์ภายหลังตอนโปรเซสไฟล์ เราจะได้ภาพที่มีดีเทล และคอนทราสต์ที่ดี
เขียนที่บ้าน
16/06/2018
สมชายการช่าง