sRGB vs AdobeRGB
sRGB vs AdobeRGB
sRGB หรือ AdobeRGB ใช้อะไรดี?
ปัญหาหลักๆ อันนึงสำหรับช่างภาพมือใหม่ หรือที่ผู้ที่เริ่มสนใจเรื่องสีในงานภาพถ่ายก็คือ
จะเลือกใช้อะไรดี ระหว่าง sRGB กับ AdobeRGB เพราะมีให้เลือกตั้งแต่ตอนเซ็ทอัพกล้องก่อนจะถ่ายภาพ
....บางคนก็ว่า ใช้ sRGB สิ เค้าตั้งมาให้จากโรงงานแล้ว ใช้ง่าย ใช้ได้เลย
....บางคนก็บอก ไม่ได้ๆ ใช้ sRGB แล้วได้สีไม่สด ต้องมาใช้ AdobeRGB สิ สีสวยกว่า มืออาชีพเค้าใช้กันทั้งนั้นแหละ
ผมขอเริ่มจากคำอธิบายจากผู้ผลิตกล้อง ที่แนะนำไว้ในคู่มือกล้อง ก่อนนะครับ
ภาพจากคู่มือกล้อง Nikon D700
ในคู่มือกล้องจากผู้ผลิตอธิบายไว้ว่า...
sRGB สำหรับใช้แสดงภาพ หรือ อัดภาพที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องการปรับแต่งนัก
AdobeRGB จะให้จำนวนสี และ ขอบเขตของสีมากกว่า sRGB เหมาะสำหรับภาพจะนำไปแต่งเพิ่ม หรืองานสิ่งพิมพ์ หรือการพานิชย์
มีคำอธิบายอยู่สั้นๆ แค่นี้
คิดว่าหลายท่านคงสงสัยว่า แล้วยังไงต่อหละ มันมีผลดี ผลเสียอะไรไหม... ผมเลยขออธิบายเสริมอีกนิดนะครับ
Color Space หรือแปลไทยง่ายๆว่า “ช่วงความกว้างของสี” สร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้กับไฟล์ภาพ ว่า ไฟล์ภาพนั้นๆ มีขอบเขตการแสดงสี กว้าง-แคบ แค่ไหน
sRGB
เกิดจากความร่วมมือกันของวิศวกรของ Microsoft กับ HP คำว่า sRGB ย่อมาจากคำว่า Standard RGB คิดขึ้นและนำมาใช้งานกันเมื่อปี ค.ศ. 1996
อุปกรณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะผลิตขึ้นมาให้ทำงานในช่วงสีนี้ เพราะถือว่าเป็นค่ามาตรฐาน ( Standard) เช่น จอภาพมอนิเตอร์ กล้องถ่ายภาพ เครื่องพิมพ์ ฯ
แต่ sRGB มีช่วงสีไม่ค่อยกว้างนัก ไม่เหมาะกับงานสิ่งพิมพ์ แต่เหมาะกับใช้งานรูปบนเว็บไซด์ อินเตอร์เน็ท ร้านปริ๊นท์รูปทั่วไป (Photo Lab) เพราะมีกามุตสี ใกล้เคียงกับจอภาพที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไป
sRGB
AdobeRGB (1998)
หลังจาก sRGB ประกาศออกมาใช้งานสักพัก ทาง บ.อโดบี ก็เห็นว่า sRGB มีกามุตสีที่แคบเกินไปสำหรับงานสิ่งพิมพ์ ทำให้สีในช่วง เหลือง เขียว น้ำเงิน ที่หมึกพิมพ์สามารถพิมพ์ออกมาได้ โดนตัดออกไป ทางอโดบีจึงคิดค้นโปรไฟล์สีมาใหม่ ให้เหมาะกับงานสิ่งพิมพ์ และ ประกาศออกมาเมื่อปี 1998 โดยใช้ชื่อว่า AdobeRGB (1998)
AdobeRGB (1998)
ทีนี้ลองมาดูขอบเขตสี (Color Gamut) เปรียบเทียบกันระหว่าง sRGB กับ AdobeRGB (1998) เทียบกับขอบเขตสีที่ตามนุษย์มองเห็น
sRGB เทียบกับ AdobeRGB
ถ้าดูจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ AdobeRGB จะมีขอบเขตสีที่กว้างกว่า sRGB หรือพูดง่ายๆ ว่า มีสีที่สดกว่า เราก็ควรจะใช้อันนี้สิ เพื่อให้ภาพที่เราถ่ายมา มีสีที่สดใสสวยงาม
ไฟล์รูปเดียวกัน แต่ใช้ Color Profile ต่างกัน
แต่.... การนำ AdobeRGB มาใช้งาน แค่เลือกเซ็ทค่า AdobeRGB แต่ในกล้องอย่างเดียว โดยที่เราไม่เข้าใจเรื่อง ระบบการจัดการสี(CMS) แล้วจะนำมาใช้งานเลย มันไม่ได้นะครับ จะได้ผลเสีย มากกว่าผลดี ตอนเรานำเอารูปไปใช้งาน (เช่น ส่งปริ๊นท์ที่แล็บ แล้วสีซีดลง)
คำแนะนำเบื้องต้น
แบบที่ 1.
กล้องเกือบทุกตัวบนโลก ถูกตั้งค่าตั้งต้นมาเป็น sRGB, จอภาพมอนิเตอร์ทั่วไป ทั้ง PC และ Mac มีกามุตสีที่ใกล้เคียง sRGB ,เครื่องพิมพ์ภาพแบบ Photo Lab ก็มีกามุตสีแบบ sRGB
ถ้าเราไม่อยากรู้ หรือศึกษาเพิ่มเติม เรื่องระบบการจัดการสี (CMS) เราแค่ถ่ายภาพแบบ Jpeg แล้วโพสต์, แชร์, เอามาทำเว็บไซด์ ,ทำงานนำเสนอต่างๆ บนจอภาพ หรือส่งปร๊นท์แล็บสีราคาประหยัด หรือเป็นช่างภาพจบหลังกล้อง ถ่ายเสร็จเอาไปใช้งานเลย
sRGB เหมาะกับคุณที่สุด
แบบที่ 2
ถ้า ... คุณเป็นช่างภาพที่ถ่ายงานเพื่องานสิ่งพิมพ์ ที่ต้องส่งงานโรงพิมพ์ ช่างภาพประจำนิตยสาร หรือช่างภาพคอมเมอเชียล ที่ต้องการงานคุณภาพสูงกว่าทั่วไป
AdobeRGB เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณ
แต่เพื่อสีที่ดีขึ้น ชีวิตการทำงานของคุณ ก็ต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นหลายๆ อย่าง เช่น
1. เริ่มจากคุณต้องตั้งค่าในกล้องให้เป็น AdobeRGB
2. จอภาพมอนิเตอร์ที่ใช้ ต้องสามารถแสดงสีได้ถึงขอบเขต AdobeRGB ถ้าจอคุณแสดงสีได้แค่ sRGB คุณจะเห็นสีจากไฟล์รูปได้ไม่หมด ไม่ครบ จะมีสีที่คุณมองไม่เห็นซ่อนอยู่ คุณจะปรับแต่งภาพต่อได้ยังไงหละ
3. ต้องมีการเปลี่ยนค่า Color Setting ใหม่ใน Photoshop ให้ใช้ AdobeRGB เป็น Working Space ของโปรแกรม จากเดิมที่โปรแกรมตั้งไว้เป็น sRGB
4. เมื่อจะนำไฟล์รูปไปใช้งานอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ส่งโรงพิมพ์ออฟเซ็ท หรือ Pro Photo Lab ต้องมีการ Convert ให้เป็น sRGB ก่อน เช่น อัพขึ้นเว็บไซด์ อินเตอร์เน็ท ส่งอีเมล์ หรือส่งปริ๊นท์ตามแล็บสีทั่วไป
เปรียบเทียบกามุตสีของ sRGB กับจอ iMac จะมีกามุตสีเกือบเท่ากัน
* ถ้าท่านใช้จอภาพทั่วไป ทั้ง PC และ Mac แนะนำให้ใช้โปรไฟล์สีแบบ sRGB ซึ่งมี color gamut ใกล้เคียงกัน
เปรียบเทียบกามุตสีของ AdobeRGB กับจอภาพประเภท Wide Gamut
* ถ้าจะใช้งานโปรไฟล์สี AdobeRGB ควรใช้จอภาพแบบ Wide Gamut ที่แสดงผลได้ถึงช่วง AdobeRGB ด้วย
สรุปครับ
sRGB
ของพร้อมใช้ สำหรับใช้งานทั่วๆไป เน้นงานชมบนจอภาพ
AdobeRGB
ให้สีสดกว่า สำหรับงานสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ต้องมีขั้นตอนการนำไปใช้งาน
บันทึกที่บ้าน
สมชาย
12/05/2016
อัพเดท 25-05-2016
รีวิวจอมอนิเตอร์ Wide Gamut AbobeRGB ที่มีขายในบ้านเราตอนนี้และราคาไม่แรง