Monitor for Photography
Monitor for Photography
แนะนำการเลือกซื้อจอ Monitor สำหรับงานภาพถ่าย
วิธีดูจอ Monitor สำหรับงาน Photo
ภาพประกอบจากจอ BenQ SW2700PT
มาหละครับตามคำเรียกร้อง บทความวิธีเลือกซื้อจอ Monitor สำหรับงานภาพถ่าย และการเสป็คต่างๆของจอภาพ Monitor ก่อนตัดสินใจซื้อ จอภาพมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนั้น ที่ใช้กันหลักๆ ก็คือจอภาพแบบ LCD Monitor ชื่อในท้องตลาด จะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
- LCD Monitor
- LED Monitor
LCD
ย่อมาจาก Liquid Crystal Display โดยรุ่นแรก จะใช้หลอดไฟส่องหลังจอแบบ CCFL (Cold Cathode Fluorescent Lamp) ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดผอมแบบหลอดไฟบ้าน เรียงในแนวนอนยาวลงมาเป็นตัวกำเนิดแสง และมี Liquid Crystal เป็นผลึกแข็งกึ่งเหลวคอยบิดตัวเป็นองศาเพื่อให้แสงแบ็คไลท์ (สีขาว) ลอดผ่านทะลุ Color Filter แม่สี 3 สี ทั้งสีแดง น้ำเงิน เขียว เพื่อแสดงออกมาเป็นสีสันต่างๆ
ชื่อในท้องตลาดจะเรียกจอแบบนี้ว่า LCD Monitor
(ก็คือ LCD Monitor ที่มี Back light เป็นหลอด CCFL )
CCFL Backlight
LED
ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบไฟส่องหลังจอ (Back light) เป็นแบบ LED (Light Emitting Diode) ซึ่งใช้หลอด LED เป็นตัวกำเนิดแสง และมี Liquid Crystal เป็นผลึกแข็งกึ่งเหลว 3 สีทั้งสีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว คอยบิดตัวเป็นองศาเพื่อให้แสงจากหลอด LED ส่องลอดผ่านออกมาเป็นสีสีนต่างๆ
ชื่อในท้องตลาดจะเรียกจอแบบนี้ว่า LED Monitor
(ก็คือ LCD Monitor ที่มี Back light เป็นหลอด LED)
โดยในปัจจุบันจอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ที่มีขายจะเป็นจอ LCD ที่มีไฟส่องหลัง Back light เป็นแบบ LED กันหมดแล้ว
LED VS. CCFL
ต่อมา เรามาดูเสป็คจอมอนิเตอร์ในส่วนหลักๆ ที่สำคัญกันครับ
1. Panel หรือตัวแผงจอที่ทำให้เกิดภาพ
มีหลักๆ 2 ชนิด
1.1 Panel แบบ TN (Twisted Nematic)
ชื่อเต็มว่า “Twisted Nematic + film” หรือบางทีเรียกว่า จอ TFT LCD (thin-film transistor) เป็นประเภทของ LCD Panel ที่มีการผลิต และใช้งานอย่างแพร่หลายที่สุด เนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ และความสามารถในการตอบสนองของการเปลี่ยนสีที่รวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยง effects อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น shadow trails และ ghosting artifact
TN Panel มีข้อเสียในเรื่องของมุมมองการรับชมที่ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะมุมมองการรับชมในแนวตั้ง และ TN Panel หลายๆ ตัวสามารถแสดงผลได้ 6 บิทต่อ 1 สี (6 bits per color) แทนที่จะเป็นแบบ 8 บิทต่อ 1 สี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ TN Panel แบบ 6 บิทไม่สามารถแสดงสีได้ถึง 16.7 ล้านสีได้ (16.7 ล้านสี หรือ 24-bit truecolor) และเมื่อนำ panel เหล่านี้มาต่อกับ source ที่เป็น true color มันจะจำลอง (interpolate) เฉดสีอื่นๆ ที่มันไม่สามารถแสดงได้ขึ้นมาโดยการใช้เทคนิค dithering ซึ่งเป็นการรวมเอาพิกเซลที่อยู่ใกล้เคียงกันมาคำนวณและจำลองสีที่ต้องการออกมา
สรุป ข้อดี
- ราคาไม่แพง เริ่มจากหลัก 3-4 พันถึงหมื่นต้นๆ ตามขนาดความกว้างจอ
- response time สูง กับทำให้สูงมากได้ เล่นเกมส์นี้เหมาะเลย
ข้อด้อย
- มุมมองค่อนข้างแคบ เวลาทำงานต้องเป็นคนคอแข็ง มองจอตรงตั้งฉาก ไม่ขยับขึ้นลง ดูได้คนเดียว เพื่อนข้างๆดูด้วยไม่ได้สีเพี้ยน
- การแสดงสีไม่กว้าง เต็มที่คือประมาณ sRGB แบบ 6 ถึง 8 บิตต่อสี แปลว่าทำรูปไม่ค่อยเวิร์ค เอาไว้ใช้งานทั่วไป ดูเว็บ เช็คเมล์ต่างๆ น่าจะเหมาะ
1.2 Panel แบบ IPS (in-plane switching)
ถูกพัฒนาขึ้นโดยฮิตาชิ ในปี 1996 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงข้อเสียของ TN panel ในแง่ของมุมมองการรับชมและความสามารถในการแสดงสี
ผู้ผลิต IPS Panel ดูตามรายชื่อด้านล่าง รายใหญ่ในปัจจุบันคือ LG
LG Display (mentioned as largest supplier of IPS LCDs in 2012)[1]
Sony Professional Display
Panasonic Liquid Crystal Display Co., Ltd
IPS Panel ยังได้ถูกพัฒนาต่อยอดออกมาอีกหลายประเภท ดังนี้:
AS-IPS – Advanced Super IPS ถูกพัฒนาโดยฮิตาชิในปี 2002 โดยได้รับการปรับปรุง contrast ratio ให้ดีขึ้น ซึ่ง AS-IPS panel ได้ถูกใช้โดยจอของ NEC
A-TW-IPS – Advanced True White IPS พัฒนาโดย LG Philips ให้กับ NEC โดย Panel ชนิดนี้ได้รับการปรับปรุงโดยเพิ่ม color filter เพื่อให้สีขาวดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น และเพิ่ม color gamut ให้ใกล้เคียงกับจอ CRT มากขึ้น จึงมีการนำ Panel ประเภทนี้ไปใช้กับจอ LCD สำหรับมืออาชีพที่ทำงานด้านภาพถ่ายที่ต้องการความแม่นยำของสีสูง
H-IPS – เป็นอีกหนึ่ง panel ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก IPS โดยได้รับการปรับปรุงเรื่อง Backlight bleeding, เรื่องสีออกโทนม่วงเวลามองจากมุมด้านข้าง และลด noise ลงด้วย แต่การปรับปรุงเหล่านี้ก็ทำให้มุมมองในการรับชมแคบลงกว่าเดิม
มีอีกเยอะ เพราะพัฒนาตลอด ดูตามรูปประกอบละกันครับ
ลำดับการพัฒนาเทคโนโลยีจอแบบ IPS
เทคโนโลยีล่าสุดของ IPS panel จาก LG คือ AH-IPS (Advanced High Performance In-Plane Switching) มีใช้ในจอไฮเอ็นอย่าง EIZO CG277 และ DEL ซีรี่ย์ Premier color เช่น U2413, U2713H, UP2516D, UP2716D
สรุป ข้อดี
มุมมองกว้าง แนวตั้ง/แนวนอน 178/178 องศา - ให้คอนทราสที่สูง ประมาณ 1000 : 1 และ สีดำ ดำลึกกว่า - มีขอบเขตการแสดงสีได้กว้าง จาก sRGB ไปจนถึง Adobe RGB ในจอแบบไฮเอ็นแบบ Wide Gamut จึงเหมาะเอามาทำงานภาพถ่ายที่สุด
ข้อด้อย
ราคาสูง จอประเภทนี้เริ่มจากหลักหมื่นต้นๆ ไปถึงหลักแสนต้นๆ สำหรับจอไฮเอ็น
2. Backlight Technology
2.1 W-LED หรือ White LED
คือใช้หลอด White LED หรือ LED สีขาว เป็นไฟส่องหลังจอ White LED จะใช้กับจอในท้องตลาดกว่า 90%
เช่น จอPC ขนาด 24 นิ้ว ราคาเกือบหมื่น ถึงหมื่นต้นๆ, จอแม็คบุคโปร, ไอแม็ค, ไอโฟน ,ไอแพด, สมาร์ทโฟน
จริงๆ แล้ว White LED หรือหลอด LED สีขาว คือการนำหลอด Blue LED มาเคลือบด้วยสารฟอสเฟอร์สีเหลือง เพื่อให้แสงออกมาสีขาว แต่ก็ไม่ขาวตรงสักเท่าไหร่ ออกจะอมฟ้าๆ (หรือที่สมัยนี้ฮิตเรียกว่าแสงสีฟ้าจากจอภาพมาทำลายสายตานั่นเอง) ให้เสปคตรัมสีที่แคบ คืออยู่ในช่วง sRGB แบบ 8 บิตต่อสี หรือ 16.7 ล้านสี
เสปคตรัมสี ของ Back light แบบ White LED
2.2 แบบใช้หลอดLED แยกหลายสี
เช่น RGB LED หรือ รุ่นล่าสุดจะเป็นแบบ GB-r LED (ใช้ในจอไฮเอ็นอย่าง EIZO และ DELL ซีรี่ย์สูงแบบ Premier color) จอที่ใช้หลอด LED แบบนี้ จะให้ขอบเขตสีที่กว้างกว่าจอทั่วไป แบบที่เราเรียกกันว่าจอแบบ Wide Gamut ปัจจุบันสามารถแสดงสีได้ถึง 100% AdobeRGB
ตอนคาลิเบรทจอ จะสามารถปรับค่าแสง RGB แยกกันได้ ทำให้การคาลิเบรทได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าจอแบบ W-LED จอแบบนี้รุ่นไฮเอ็น สามารถแสดงสีได้ถึง 10 บิตต่อสี หรือ หนึ่งพันล้านสี (ต้องต่อผ่าน Display Port กับ HDMI เท่านั้น ถ้าต่อผ่าน DVI หรือ VGA จะไม่ซัพพอร์ท)
เสปคตรัมสี ของ Back light แบบ GB-r LED
3. ขนาดจอภาพ
จอภาพเราจะวัดขนาดจากเส้นแทยงมุมครับ Diagonally Viewable Size เช่น 21 , 24 ,27 นิ้ว คือความยาวของเส้นแทยงมุมของจอภาพ
4. เรื่องความละเอียดของจอ Resolution
จอที่เหมาะกับงานทำรูป ควรเริ่มจาก 21 นิ้ว 24 นิ้ว หรือ 27 นิ้ว
จอขนาด 21 หรือ 24 นิ้ว ควรมีความละเอียดแบบ Full HD หรือ 1920 x 1080 พิกเซล เป็นอย่างต่ำ
จอขนาด 27 นิ้ว ควรมีความละเอียดแบบ Q HD หรือ 2560 x 1440 พิกเซลขึ้นไป
ภาพเปรียบเทียบ resolution 2 แบบ บนจอ 27 นิ้ว
5. ความสามารถในการแสดงสี
- 8 บิตต่อสี แสดงสีได้ 16.7 ล้านสี (16.77 million colors)
- 10 บิตต่อสี แสดงสีได้ 1พันล้านสี (1073.74 million colors)
# แก้ไขเพิ่มเติมครับ : การ Setting ระบบให้รองรับระบบสี 10 บิต พันล้านสี สำหรับจอที่แสดงผลได้
1. เชื่อมต่อจอภาพกับคอมพิวเตอร์ด้วยพอร์ท Display Port หรือ HDMI
2. ตั้งค่าใน Control Panel ของการ์ดจอให้เป็น 10 บิตต่อสี
3. ตั้งค่า Preferences ใน Photoshop ในซัพพอร์ท 30 Bit Display
โดยไปที่ Preferences > Performance> Advanced Settings > 30 Bit Display
6. Hardware Calibration support
แปลว่ารองรับการคาลิเบรทจอแบบฮาร์ดแวร์ไหม ถ้าได้ก็จะสามารถคาลิเบรทได้เที่ยงตรงมากขึ้น โดยต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์คาลิเบรท ยี่ห้อที่จอซัพพอร์ท โดยมากเราต้องซื้อเพิ่ม (เฉพาะบางจอเช่น EIZO รุ่นทอปจะมีฝังมากับจอเลย แต่ราคาจะสูงมากตามไปด้วย)
X-Rite ตัวคาลิเบรทที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่จอภาพแนะนำ
7. ค่า Contrast Ratio
ค่าความเปรียบต่างจากมืดไปสู่สว่างสุด แนะนำว่าไม่ควรตำกว่า 287 ต่อ 1 , จอ IPS รุ่นใหม่ๆทำได้สูงถึง 1000:1
แนะนำ ควรปรับค่า Contrast ที่จอไปที่ 80-90 %
8. ค่า Brightness ความสว่าง
ปกติทำรูปเราใช้กันที่ 100 -120 cd/m2
เสป็คจอทั่วไปจะอยู่ที่ ประมาณ 300 cd/m2 และจอจากโรงงานส่วนมากจะปรับค่า Brightness มาที่ 90 เบื้องต้นควรลดลงเหลือประมาณ 30 ก่อน ถ้ายังไม่ได้คาลิเบรท
9. มาตรฐานต่างๆ ที่ควรรู้
มาตรฐานต่างๆ ที่ควรรู้
DCI-P3 มาตรฐานงานภาพยนต์
sRGB มาตรฐาน Internet
AdobeRGB มาตรฐานงาน Photo
10. Color Support
เช็คดูว่าจอตัวนี้สามารถแสดงสีได้กว้าง-แคบแค่ไหน จอทั่วไป ส่วนมากในเสป็คจะไม่บอก ก็พอเดาได้ว่าประมาณช่วง sRGB หรือแคบกว่านั้น
แต่ถ้ามีบอกก็จะเป็นจอ Wide Gamut เช่นแสดงสีได้ถึงกี่ % ของ AdobeRGB
** เรื่องของ sRGB กับ AdobeRGB อ่านเพิ่มเติมได้จาก บทความนี้ sRGB หรือ AdobeRGB ใช้อะไรดี?ครับ
สรุป วิธีดูเสป็คจอภาพหลักๆ มี
- Panel จอ เป็น TN หรือ IPS (ใช้ทำรูปเลือก IPS)
- Backlight Technology หลอดไฟส่องหลัง เป็นแบบหลอดสีเดียว W-LED หรือแบบ แยกหลายสี
- ขนาดของจอที่จะเลือกใช้ แนะนำ 24-27 นิ้ว กำลังดี
- ความละเอียดของจอ ขอไม่ต่ำกว่า Full HD ถึง Q-HD
- ขอบเขตความกว้างของสี sRGB ถึง AdobeRGB
- จำนวนสีที่แสดงได้ 8 บิต 16 ล้านสี หรือ 10 บิต พันล้านสี
- จอจะถูกจะแพงแค่ไหน เอามาทำรูป ต้องมาคาลิเบรทใหม่ก่อนใช้งานทุกจอ เน้นนะครับว่าทุกจอ และควรคาลิเบรทสม่ำเสมอทุกๆ 200 ชั่วโมง
- ถ้าจะซื้อจอมาทำรูปเพื่องาน Print ควรติดตั้ง Hood ให้กับจอภาพด้วย เพื่อลดการรบกวนจากแสงรอบช้าง (ซึ่งจะทำให้สีและคอนทราสของจอเพี้ยนไปได้)
ยาวมากแล้ว จบดีกว่าครับ
ปล. ขอบคุณที่อ่านจนจบ
บันทึกที่บ้าน
18/07/2016
สมชายการช่าง
หมายเหตุ : บทความนี้ เขียนเพื่อให้ความรู้เป็นวิทยาทาน สามารถแชร์ได้ตามสะดวก
แต่ไม่อนุญาติให้ก๊อปปี้แล้วไปแปะตามเว็บอื่นๆ หรือเอาไปแก้ไขดัดแปลงแล้วใส่ชื่อตัวเองแทน